logo_medical_เล็ก

สหคลินิกเมดิคอลไลน์ แล็บ (บริษัท เมดิคอลไลน์ แล็บ)

ปวดท้อง เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

ปวดท้อง เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

อวัยวะภายในช่องท้อง ตั้งแต่กระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปจนถึงทวารหนัก ล้วนเป็นอวัยวะที่สำคัญ เมื่ออวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ร่างกายอาจส่งสัญญาณเตือนอย่างอาการปวดท้องที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งในบางครั้ง อาการปวดท้องอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายบางชนิดได้

woman-having-stomach-ache-bending-with-hands-belly-discomfort-from-menstrual-cramps

ปวดท้องแบบนี้ เป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไร?

  • ไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอุดตันของเศษอาหารและการติดเชื้อของลำไส้ อาการของไส้ติ่งอักเสบ คือ ในช่วงแรกจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหารคล้ายกับโรคกระเพาะ แต่จะมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือกลางท้องร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดท้องน้อยด้านขวามากขึ้นหรือปวดร้าวไปด้านหลัง หากอาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจขยับตัวไม่ค่อยได้และเริ่มมีไข้ ซึ่งอาการปวดไส้ติ่งไม่สามารถรักษาให้หายเองได้ หากไม่ได้รับการรักษา อาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

  • แผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้ในเด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ พบมากในกลุ่มผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบบ่อย ๆ รวมถึงผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทานรสเผ็ดจัด ดื่มกาแฟเป็นประจำ และผู้ที่มีภาวะเครียด หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร อาการกระเพาะอาหารอักเสบส่วนใหญ่มักเริ่มจากอาการปวดท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร แต่จะค่อย ๆ หายไปเมื่อรับประทานอาหารไปได้สักพัก นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนมีลมในท้อง คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

  • กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน มีอาการเบื้องต้น คือ ปวดท้อง เรอเปรี้ยว รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบนไปถึงบริเวณกลางอก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอ สะอึก เจ็บคอร่วมด้วย กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ดื่มชา กาแฟ หรือผู้ที่รับประทานอาหารแล้วนอนหรือเอนหลังทันที นอกจากนี้ การเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้อีกด้วย

  • นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาทิ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ๆ หรือโรคเลือดต่าง ๆ อาการของนิ่วในถุงน้ำดีมีตั้งแต่ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่จะไม่ปวดแสบเหมือนโรคกระเพาะ และอาจเข้าใจผิดว่าเป็นแค่อาการท้องอืดธรรมดา ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ถึงขั้นถุงน้ำดีอักเสบ อาการอาจรุนแรงขึ้น โดยคนไข้จะมีอาการปวดท้องจุก ๆ ขยับตัวไม่ได้ หายใจเข้าแล้วรู้สึกเจ็บในช่องท้อง ปวดชายโครงขวาหรือร้าวไปหลัง

  • ตับอักเสบ

ตับอักเสบ คือ ภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณตับ เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด หากตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดตับแข็ง หรือเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับตามมาได้ อาการที่พบโดยส่วนใหญ่คือ ผู้ป่วยจะมีไข้และมีอาการปวดท้องด้านบนขวา ตัวเหลืองขึ้น สามารถวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าการทำงานของตับ

  • ตับอ่อนอักเสบ

ตับอ่อนอักเสบ คือ ภาวะที่เกิดการอักเสบของตับอ่อน ทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงได้ บางรายอาจปวดนานตั้งแต่ 10 นาทีจนถึงชั่วโมง บางรายมีอาการเรื้อรังแบบเป็น ๆ หายๆ และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดร่วมด้วย บางรายอาจปวดท้องจนต้องงอตัวเพื่อให้ความปวดทุเลาลง บางรายถ่ายเป็นสีเทา หรือซีด ๆ และอาจมีไขมันออกและมีอาการน้ำหนักลง ซึ่งมักพบบ่อยในเพศชาย ในกรณีที่รุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้

  • ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน คือ การที่ผนังของกล้ามเนื้ออ่อนแอลงหรือความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้เกิดการหย่อนหรือฉีกขาด ส่งผลให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมา ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ปวดจุก ๆ รู้สึกแน่น ๆ บางรายอาจสังเกตเห็นก้อนนูนในตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบได้แก่ บริเวณสะดือ ขาหนีบ ผนังหน้าท้องที่เคยมีการผ่าตัดมาก่อน หากปล่อยทิ้งไว้อาจรุนแรงหรือมีความยุ่งยากในการผ่าตัดมากขึ้น เช่น ลำไส้เน่าหรืออุดตันได้

  • กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ

กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ คือ โรคที่มีการเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้ มักพบในผู้ป่วยมักมีประวัติท้องผูกเรื้อรัง อาการที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดท้องบริเวณด้านล่างขวาหรือด้านล่างซ้าย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย มีไข้ หนาวสั่น เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจมีการแตกหรือการอุดตัน หรือถ่ายเป็นเลือดได้

  • โรคทางนรีเวช

อาการปวดท้องของโรคทางนรีเวชมักมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านล่าง ตรงกลาง หรือปวดท้องด้านซ้ายและขวาก็ได้ ซึ่งมักเป็นการส่งสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับมดลูกหรือปีกมดลูกในเพศหญิง บางรายอาจพบความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ มากะปริบกะปรอย ซึ่งควรเข้ารับการตรวจภายในหรืออัลตราซาวนด์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

  • มะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหารพบได้บ่อยในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นประจำติดต่อกันอย่างอาหารแปรรูปและอาหารปิ้งย่าง ในระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดง แต่เมื่อระยะของโรคดำเนินไป อาจทำให้มีอาการปวดท้องที่คล้ายโรคอื่น ๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไวรัสลงกระเพาะ โดผู้ป่วยมักปวดท้อง รู้สึกไม่สบายท้อง เหมือนอาหารไม่ย่อย ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้ มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

อาการที่พบจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง เช่น หากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านขวา จะมีอาการอ่อนเพลีย ซีดจากการเสียเลือด เรื้อรัง น้ำหนักลด ปวดท้อง หรือคลำพบก้อน หากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย มักมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ส่วนมะเร็งทวารหนัก ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด ซีดลง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นเม็ดกระสุน จนถึงอุดตันจนถ่ายไม่ออก สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยการตรวจอุจจาระเพื่อหาการปนของเลือด หรือการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนปลาย และการตรวจทางภาพรังสีวินิจฉัย

  • มะเร็งตับอ่อน

ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่หลังเยื่อบุช่องท้อง ทำให้ยากต่อการตรวจวินิจฉัยโรค และอาการมักจะปรากฏเมื่อมะเร็งลุกลามมากแล้ว ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสัตว์ในปริมาณสูง รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคดังกล่าว โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย เบื่ออาหาร ตัวเหลือง หรือไม่มีอาการเลยก็ได้

 

เมื่อมีอาการปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือนแสดงถึงความผิดปกติของโรคในช่องท้องที่ต้องอาศัยการสังเกตและความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย หากนิ่งนอนใจ อาจทำให้วินิจฉัยล่าช้าและส่งผลอันตรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการปวดท้องบ่อย ๆ ปวดท้องเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจภายในช่องท้องด้วยการอัลตราซาวนด์เพื่อการวินิจฉัยโรค ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

 

Ref:

https://www.bangkokhospital.com/content/warning-signs-9-peritoneal-diseases

https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-ศัลยกรรม-ผ่าตัดแผลเล็ก/อาการปวดท้อง-อาหารไม่ย่อย

Scroll to Top
Scroll to Top