logo_medical_เล็ก

สหคลินิกเมดิคอลไลน์ แล็บ (บริษัท เมดิคอลไลน์ แล็บ)

เปลือกตาอักเสบ โรคเรื้อรังที่พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย

เปลือกตาอักเสบ โรคเรื้อรังที่พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย

โรคเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) คือ ภาวะการอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นบริเวณเปลือกตา โดยเฉพาะบริเวณขอบเปลือกตา ซึ่งประกอบด้วยขนตา ต่อมรากขนตา และต่อมไขมัน และมักเป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองตา เจ็บตา และไม่สบายตาที่พบได้บ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

โรคเปลือกตาอักเสบถือเป็นโรคแบบเรื้อรัง แต่ไม่เป็นโรคติดต่อ และแม้ว่าจะเป็นโรคไม่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอด แต่ก็อาจรบกวนชีวิตประจำวันและสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณขอบเปลือกตาแบบถาวร ส่งผลให้ตาแห้ง ขนตาเก ผิวกระจกตาอักเสบ หรือเป็นแผลที่กระจกตา และส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นแย่ลงได้

Medicine, health care and eyesight concept. Unrecognizable female shows her inflated red eye with blood capillary, has conjuctivitis. Woman with injured eye

ชนิดของเปลือกตาอักเสบ

การแบ่งชนิดของเปลือกตาอักเสบตามสาเหตุของการเกิดเปลือกตาอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal Blepharitis) เป็นโรคเปลือกตาอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของมนุษย์ ซึ่งไม่สร้างสารพิษและไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่อาจทำให้เปลือกตาอักเสบได้
  • เปลือกตาอักเสบชนิดที่เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมสร้างไขมันที่เปลือกตา (Seborrheic Blepharitis) เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมไขมัน มีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม ทำให้ผิวมัน ตกสะเก็ดคล้ายรังแค และมีผื่นคันบนหน้าหรือร่างกาย
  • เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ หรือมักเรียกกันว่า Meibomian Gland Dysfunction (MGD) ซึ่งเกิดจากการที่ต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ หากต่อมนี้ทำงานได้น้อยลง จะทำให้น้ำตาระเหยได้เร็ว จนเกิดเป็นตาแห้ง ตาแดง เคืองตา คันตา น้ำตาไหล แต่หากทำงานมากเกินไปจะทำให้หนังตาแดง มีคราบขี้ตา หรือสะเก็ดบริเวณขนตา

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเปลือกตาอักเสบทั้งสามชนิดร่วมกันได้ เนื่องจากการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมไขมันและต่อมน้ำตาไมโบเมียนทำงานผิดปกติมักเกิดขึ้นพร้อมกัน และมักติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัสร่วมด้วย

Close up portrait of beautiful albino woman isolated on studio background. . Details.

สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ

ปัจจุบัน สาเหตุของเปลือกตาอักเสบนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเปลือกตาอักเสบ เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การติดเชื้อราที่เปลือกตา
  • การได้รับสิ่งสกปรกบริเวณเปลือกตา เช่น ฝุ่นละออง
  • ไรฝุ่น ไรขนตา หรือมีเหาที่ขนตา
  • การเขียนขอบตา การติดขนตาปลอม การใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา การสักขอบเปลือกตา
  • การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
  • การมีโรคต่าง ๆ บริเวณรอบดวงตา เช่น ตาแห้ง ขนตางอกผิดทิศทาง เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ เป็นต้น
  • การมีภาวะภูมิแพ้ของตา รวมทั้งโรคทางระบบร่างกาย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตนเอง โรคต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม โรคโรซาเซีย ผู้มีภาวะหมดประจำเดือน มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เป็นต้น
  • การได้รับยาบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เปลือกตาอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคเปลือกตาอักเสบ ได้แก่

  • มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตา เช่น ขนตาขึ้นผิดทิศทาง ขนตาหลุด
  • มีปัญหาผิวบริเวณเปลือกตาที่อาจก่อให้เกิดแผลบริเวณดังกล่าว
  • การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี
  • การใส่คอนแทคเลนส์
  • การกำจัดคราบเครื่องสำอางออกไม่หมด
  • ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
  • การบาดเจ็บบริเวณกระจกตา
  • การติดเชื้อบริเวณโคนขนตาที่อาจทำให้ตาขาวอักเสบ
  • การใช้ยารักษามะเร็ง
  • โรคเบาหวาน
  • สภาพแวดล้อมที่อากาศแห้ง เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือวัยหมดประจำเดือน

 

อาการเปลือกตาอักเสบ

อาการทั่วไปของโรคเปลือกตาอักเสบ ได้แก่

  • คันเปลือกตา หรือเจ็บเปลือกตา รู้สึกเหมือนมีทรายหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
  • เปลือกตาบวมแดง มีตุ่มสีขาวคล้ายสิวบริเวณเปลือกตาหรือขอบเปลือกตา
  • ปวดแสบปวดร้อนตา แสบตา มีอาการระคายเคืองตา ตาแดง
  • มีอาการอักเสบและหนังตามีลักษณะมัน
  • มีขี้ตามาก โดยเฉพาะตอนเช้า
  • มีเศษกรังที่ฐานขนตา หรือมีสะเก็ดเล็ก ๆ คล้ายรังแคที่เปลือกตา
  • น้ำตาไหลบ่อย ตาแฉะ
  • กะพริบตาบ่อยกว่าปกติ
  • ขนตาร่วง
  • ขนตาขึ้นผิดปกติ โดยงอกแล้วงอเข้าด้านใน ทำให้ขนตาทิ่มตา
  • ดวงตาไวต่อแสง ตาพร่ามัว

 

ภาวะแทรกซ้อนจากเปลือกตาอักเสบ

โรคเปลือกตาอักเสบอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตาแห้ง น้ำตาไหลบ่อย ขนตางอกผิดทิศทาง แผลเป็นที่ขอบเปลือกตา ขอบเปลือกตาม้วนเข้าหรือม้วนออก ตากุ้งยิง (Stye) ตาแดงเรื้อรังจากเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาถลอก หรือเป็นแผลจากการระคายเคืองจากเปลือกตาอักเสบหรือขนตางอกผิดทิศทาง หรือในกรณีที่อาการเปลือกตาอักเสบรุนแรงมาก และไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษา อาจทำให้ผิวของกระจกตาเสียหาย หรือกระจกตาอักเสบ ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นแย่ลงแบบถาวรได้

Woman using eye drop, woman dropping eye lubricant to treat dry eye or allergy, sick woman treating eyeball irritation or inflammation woman suffering from irritated eye, optical symptoms

การรักษาเปลือกตาอักเสบ

วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาเปลือกตาอักเสบ คือ การรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขอบเปลือกตา ซึ่งผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ง่าย ๆ ด้วยแนวทางเหล่านี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาหรือใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าการอักเสบจะดีขึ้นเพื่อลดการระคายเคือง
  • ประคบอุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ นำมาประคบรอบดวงตาเป็นเวลา 10-15 นาที วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้คราบขี้ตาหรือสิ่งอุดตันบริเวณเปลือกตานุ่มลง และล้างออกได้ง่ายขึ้น
  • ทำความสะอาดเปลือกตาโดยผสมแชมพูเด็กกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:1 ใช้ผ้าสะอาดหรือแผ่นสำลีชุบน้ำผสมแชมพูถูไปมาเบา ๆ ตามแนวโคนขนตาและขอบเปลือกตาหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด และซับให้แห้ง
  • นวดเปลือกตา โดยดึงหัวตาและหางตาให้ตึง กดรูดเปลือกตาส่วนบนจากบนลงล่าง ส่วนเปลือกตาล่าง นวดโดยกดรูดจากล่างขึ้นบน ซึ่งเป็นการนวดตามวางตัวของต่อมไขมัน
  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยลดอาการตาแห้งและการระคายเคือง

หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยแนวทางอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ที่อยู่ในรูปแบบยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา หรืออาจต้องใช้ยาชนิดรับประทานหากมีการติดเชื้อ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจจ่ายยาสเตียรอยด์ (Steroids) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ บวม แดง หรืออาการระคายเคือง หรือใช้ยาปรับภูมิต้านทาน (Immunomodulators) เช่น ยาชนิดหยอดตาเพื่อช่วยลดการอักเสบในบางกรณี เช่น การอักเสบของขอบเปลือกตาส่วนหลัง เป็นต้น

Portrait of white woman doing her daily skincare routine

วิธีการป้องกันเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบมักเป็นเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด และมักกลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยจึงควรรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของเปลือกตาและใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ การเลี่ยงหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยลดอาการของโรคเปลือกตาอักเสบ ทำให้โรคหายเร็วขึ้นและไม่กลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของใบหน้าและมือ พยายามไม่สัมผัส เกาใบหน้า หรือขยี้ตา หากมีการใช้เครื่องสำอาง จำเป็นต้องล้างเครื่องสำอางให้สะอาดหมดจดทุกครั้ง ไม่นอนหลับข้ามคืนโดยยังมีเครื่องสำอางบนใบหน้า นอกจากนี้ในผู้ที่มีปัญหาสายตา ควรสลับใส่แว่นตาและแทนคอนแทคเลนส์เป็นครั้งคราวเพื่อลดอาการตาแห้งหรือการสะสมสิ่งสกปรก หากมีน้ำตา ควรซับคราบน้ำตาหรือยาหยอดตาที่ล้นออกมาจากตาด้วยกระดาษทิชชู่สะอาดหรือสำลีสะอาด และรับประทานโอเมก้า-3 ในน้ำมันตับปลาเป็นประจำเพื่อบำรุงดวงตา ช่วยให้การอักเสบและอาการตาแห้งดีขึ้น

Scroll to Top
Scroll to Top