logo_medical_เล็ก

สหคลินิกเมดิคอลไลน์ แล็บ (บริษัท เมดิคอลไลน์ แล็บ)

ความจำเป็นในการตรวจโควิด 19

ความจำเป็นในการตรวจโควิด 19

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ได้ลุกลามรุนแรงกินเวลามากว่าหนึ่งปีแล้ว และแม้จะมีการผลักดันการฉีดวัคซีนที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนาในกลุ่มบุคคลต่าง ๆ บ้างแล้ว แต่ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับดูไม่มีทีท่าที่จะลดลง อีกทั้งยังคงเห็นจำนวนยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกวันจากการระบาดระลอกใหม่นี้ ทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดความกังวลใจว่าตนเองจะได้รับเชื้อหรือติดโควิด-19 หรือไม่จนส่งผลให้ความต้องการในการที่จะเข้ารับการตรวจโควิด-19 เพิ่มสูงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หากพิจารณาจากอีกมุมมองหนึ่งจะเห็นได้ว่าการตรวจโควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนมาก ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าและทำหน้าที่เป็นด่านหน้าที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลาภายใต้ความกดดันในการยื้อชีวิตผู้ป่วย ดังนั้น การที่มีกลุ่มที่ไม่ได้มีความเสี่ยงเข้ารับคิวการตรวจโควิด-19 ย่อมทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากร เช่น บุคลากร เวลา และงบประมาณไปโดยสูญเปล่า ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่จะสามารถนำเวลาไปทุ่มเทให้กับการปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นในจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ดังนั้น ทุกท่านจึงควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการเข้ารับการตรวจโควิดเพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วยแนวทางดังนี้

ใครที่ควรตรวจโควิด-19

ใครที่ควรตรวจโควิด-19

  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยโรคโควิด-19
  • มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป
  • มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ คัดจมูก เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ค่อยได้กลิ่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เป็นต้น
  • มีผื่น ตาแดง หรือท้องเสียร่วมกับมีไข้
  • มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง
  • มีประวัติเดินทางไปยังสถานที่ชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางไปในช่วงเวลาเดียวกัน

 

เสี่ยงแค่ไหนถึงควรตรวจโควิด-19

ทุกท่านสามารถใช้แนวทางในการประเมินความจำเป็นในการเข้ารับการตรวจโควิด-19 เพื่อประเมินความเร่งด่วนและความจำเป็นในการรับการตรวจโควิด-19 เพื่อแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ และลดการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ได้ดังนี้

  1. ไม่มีอาการ ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง
  2. ไม่มีอาการ แต่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 หรือกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  3. มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 และไม่ได้กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  4. มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 และกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  5. มีอาการเด่นชัด เช่น มีไข้สูง ไอ หอบเหนื่อย
  6. มีอาการเด่นชัด เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอกฉับพลัน และเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความกังวลส่วนตัวหรือผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการหรือสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงตามข้อที่ 1 ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19

สำหรับผู้ที่เข้าข่ายข้อ 2 หรือข้อ 3 ยังไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเช่นเดียวกัน ให้กักตัว 14 วัน แล้วหมั่นสังเกตอาการ แต่หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย จึงค่อยเข้ารับการตรวจ

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงมากเข้าข่ายข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 จำเป็นต้องรีบเข้ารับการตรวจทันที

คนไทยสู้ภัยโควิด ด้วยการกักตัว รับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

คนไทยสู้ภัยโควิด ด้วยการกักตัว รับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

จากการสำรวจสถิติส่วนใหญ่พบว่าผู้ที่ได้รับเชื้อที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอมักแสดงอาการให้เห็นภายใน 14 วันหลังจากได้รับหรือสัมผัสกับเชื้อ ส่วนในผู้ที่มีร่างกายหรือภูมิคุ้มกันแข็งแรง เช่น วัยหนุ่มสาวหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ 80-90% ของผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้ก็อาจแสดงอาการให้เห็นภายใน 14 วันเช่นกัน มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะมีอาการแสดงเมื่อผ่านพ้น 14 วันไปแล้ว ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเดินทางไปในช่วงเวลาเดียวกันจึงควรกักตัวอย่างน้อย 14 วันเพื่อสังเกตอาการและยังเป็นการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นในกรณีที่มีการติดเชื้อโควิด-19 จริง ดังนั้น จึงถือเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่พึงกระทำของทุกท่านในการให้ความร่วมมือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แพร่ระบาดไม่ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวมอย่างแท้จริง และหากกักตัวครบ 14 วันและไม่พบความผิดปกติหรือสัญญาณอย่างใด ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตัวตามมาตรฐานวิถีใหม่ คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคมจนกว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงนั่นเอง

 

ศูนย์การตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เมดิคอลไลน์ แล็บ บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชาญและเชี่ยวชาญในการตรวจหาสารพันธุกรรม แม่นยำสูง ทราบผลรวดเร็ว ดำเนินการในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่มั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการรับรองว่าเป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐานการตรวจหาเชื้อโควิด–19 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย สามารถสอบถามรายละเอียดหรือทำการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อความสะดวกและรวดเร็วได้ที่

Tel.: 02-3749604-5

Facebook: medicallinelab

Line: @medicallinelab

website: www.medicallinelab.co.th

Scroll to Top
Scroll to Top