โลหะหนัก คืออะไร?
โลหะหนัก (Heavy Metals) คือ กลุ่มของธาตุที่มีมวลอะตอมสูง มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ 5 เท่าขึ้นไป สลายตัวได้ค่อนข้างช้า ทำให้สามารถสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน รวมถึงสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อพืชและสัตว์ มนุษย์มักจะได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคน้ำ พืช สัตว์น้ำ และมักจะมีความเป็นพิษต่อร่างกายในระดับสูงเมื่อสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน การสะสมของโลหะหนักในร่างกายอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะ รวมถึงการทำลายเซลล์และระบบต่าง ๆ เช่น ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร และระบบอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคหรืออาการผิดปกติที่รุนแรงได้ ในบทความนี้เราจะพาคุณเจาะลึกถึง 10 โลหะหนักอันตรายที่ควรระวัง พร้อมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ และวิธีหลีกเลี่ยงเพื่อให้สามารถดูแลและป้องกันตนเองได้อย่างปลอดภัย
10 ประเภทโลหะหนักอันตรายใกล้ตัวที่ต้องระวัง
-
ปรอท (Mercury)
ปรอท คือ โลหะที่มีลักษณะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งต่างจากโลหะอื่น ๆ ที่มักจะเป็นของแข็ง ถือเป็นสารพิษที่อันตรายต่อร่างกายหากมีการสะสมมากเกินไป โดยเฉพาะในระยะยาว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กและสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ การสะสมของปรอทในร่างกายสามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย สูญเสียความสามารถในการประสานงานของกล้ามเนื้อ และมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ปรอทยังมีผลต่อการทำงานของไตและตับ และสามารถทำลายเซลล์สมองได้หากมีการสะสมในปริมาณสูงเป็นระยะเวลานาน
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทะเลที่มีปริมาณปรอทสูง เช่น ปลาขนาดใหญ่ ปลาทูน่า ปลากระโทงดาบ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีมีครรภ์
- ใช้ผลิตภัณฑ์ในบ้านที่ปลอดภัยจากปรอท เช่น หลีกเลี่ยงการใช้หลอดไฟที่มีสารปรอทในบ้านหรือที่ทำงาน
- หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่มีสารปรอท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว ครีมลดฝ้า ครีมผิวใสที่ไม่ได้ผ่านการรับรอง
- พยายามลดการสัมผัสกับอากาศที่มีมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อม
-
ตะกั่ว (Lead)
ตะกั่ว คือ โลหะหนักที่มีลักษณะเป็นของแข็ง สีเทาหรือสีฟ้าอมเทา มีน้ำหนักมากและทนทานต่อการกัดกร่อน มักใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตแบตเตอรี่ สี และท่อสำหรับระบบน้ำ ตะกั่วจัดเป็นโลหะหนักที่มีผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะในเด็กที่ยังมีการพัฒนา อาจทำให้เกิดอาการทางพฤติกรรมเช่น สมาธิสั้น ความจำเสื่อม และการพัฒนาทางสติปัญญาที่ช้าลง ในผู้ใหญ่ การสัมผัสกับตะกั่วเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และปัญหาการทำงานของไต รวมถึงสามารถส่งผลต่อการผลิตเซลล์เลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) ได้
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสีที่มีตะกั่ว โดยเฉพาะสีทาในบ้านรุ่นเก่าหรืออุปกรณ์ที่ทาด้วยสีเก่า
- ตรวจสอบแหล่งน้ำที่ใช้บริโภคเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของตะกั่ว เนื่องจากในอาคารเก่า อาจมีการใช้ท่อที่บัดกรีด้วยตะกั่ว ซึ่งสามารถชะล้างเข้าสู่น้ำดื่มได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องครัวที่อาจมีสารตะกั่วปนเปื้อน และเลือกใช้ภาชนะอาหารที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เช่น FDA เป็นต้น
- ระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ หรือเครื่องประดับแฟชั่นบางชนิดที่อาจมีสารตะกั่ว เช่น เครื่องประดับที่ทำจากโลหะที่มีการใช้ตะกั่ว
- หลีกเลี่ยงของเล่นหรือผลิตภัณฑ์จากจีนหรือแหล่งผลิตที่ไม่มีมาตรฐาน เช่น ของเล่นเด็กราคาถูก สีเทียน สีเมจิก อาจมีการใช้ตะกั่วในสีหรือวัสดุเพื่อให้มีความทนทานและสีสด
-
แคดเมียม (Cadmium)
แคดเมียม คือ โลหะหนักที่มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาวเงินหรือสีเทา มักใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น ในการผลิตแบตเตอรี่ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ชนิดนิกเกิล-แคดเมียม ปุ๋ย สี และการชุบโลหะ รวมถึงอุสาหกรรมที่มีการเผาไหม้ของถ่านหิน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการสะสมในพืชและสัตว์ทะเล โดยเฉพาะในอาหารที่ปลูกในดินที่มีแคดเมียมปนเปื้อน เช่น ข้าวโพด ผัก และปลาทะเลบางชนิด และเป็นสารพิษที่สามารถสะสมในร่างกายมนุษย์ได้ โดยเฉพาะในตับและไต และอาจทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังและกระดูกพรุน นอกจากนี้ การสูดดมฝุ่นหรือควันที่มีแคดเมียมอาจทำให้เกิดโรคปอดและมะเร็งปอด และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และการพัฒนาของทารกในครรภ์
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการสูดดมควันจากการเผาขยะหรือสารเคมีที่มีแคดเมียม
- หลีกเลี่ยงการใช้แบตเตอรี่ชนิดนิกเกิล-แคดเมียมที่มีแคดเมียม
- เลือกอาหารที่มีแหล่งมาจากการผลิตที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่อาจมีแคดเมียม เนื่องจากแคดเมียมสามารถสะสมในดินได้จากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง หรือน้ำเสียจากอุตสาหกรรม
- ระมัดระวังการบริโภคสัตว์น้ำจากพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น ปลาน้ำจืด หอย หรือกุ้งจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้โรงงานหรืออุตสาหกรรมเหมืองแร่
- งดสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรืออยู่ใกล้กับผู้สูบเนื่องจากควันและไอระเหยมีส่วนประกอบของแคดเมียม
- ตรวจสอบแหล่งน้ำดื่มในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากสารแคดเมียม
-
สารหนู (Arsenic)
สารหนู คือ สารเคมีที่เป็นโลหะหนักและเป็นพิษต่อร่างกาย มักพบในรูปของสารประกอบที่มีสีขาวหรือสีเหลือง ซึ่งสามารถพบได้ในธรรมชาติทั้งในดิน น้ำ และสามารถแพร่กระจายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมเคมี หรือการใช้สารเคมีทางการเกษตร อีกทั้งสามารถพบได้ในน้ำดื่มในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่หรือการใช้งานสารเคมีบางชนิด ซึ่งอาจทำให้สารหนูปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และสะสมในพืชบางชนิด เช่น ข้าว ผัก และผลไม้ สารหนูเป็นโลหะหนักที่มีความเป็นพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรง การสะสมของสารหนูในร่างกายสามารถทำให้เกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ และมีผลกระทบต่อระบบประสาทและผิวหนัง นอกจากนี้ การสัมผัสกับสารหนูอาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น ผื่นคัน หรือการเสื่อมสภาพของผิวหนัง เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปัญหาด้านการเรียนรู้ หากสะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและตับ เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่อาจมีสารหนูปนเปื้อน เช่น น้ำบาดาล น้ำจากแหล่งที่ไม่มีการกรอง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองหรือใช้สารเคมี
- หลีกเลี่ยงการบริโภคข้าวหรือผักที่อาจปนเปื้อนสารสารหนูจากดินที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงที่มีสารหนูเจือปน
- ระวังการบริโภคสัตว์น้ำจากพื้นที่ปนเปื้อน เนื่องจากสารหนูสามารถสะสมในเนื้อสัตว์น้ำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เหมืองแร่ โรงงาน หรือพื้นที่อุตสาหกรรม
- หากทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้สารสารหนู ควรใช้มาตรการป้องกัน เช่น การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และการจัดการกับสารเคมีอย่างถูกต้อง
-
นิกเกิล (Nickel)
นิกเกิล คือ โลหะที่มีลักษณะเป็นสีเงินเงางาม และมีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อนและการเกิดสนิม มักใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การผลิตเครื่องมือ เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท แบตเตอรี่ วัสดุก่อสร้าง และใช้ในการผลิตสเตนเลสสตีล (Stainless Steel) ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแรงและทนทาน การสัมผัสกับนิกเกิลเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน และสามารถทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น ผื่นคัน โรคผิวหนังอักเสบโดยเฉพาะในผู้ที่มีความไวต่อสารนิกเกิลจากการสัมผัสโดยตรง นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในปอดและอาจนำไปสู่โรคทางเดินหายใจในระยะยาว รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะอาหารได้
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของนิกเกิล เครื่องประดับราคาถูก หัวเข็มขัด นาฬิกา ซิป หรือแม้แต่กรอบแว่นตา มักใช้โลหะผสมนิกเกิลในการผลิต ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือผื่นแพ้สัมผัส โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่มีเหงื่อหรือการเสียดสี โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการแพ้นิกเกิล
- หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะหรืออุปกรณ์ครัวที่มีส่วนผสมนิกเกิล ซึ่งอาจละลายออกมาได้ในขณะปรุงอาหาร โดยเฉพาะหากใช้กับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น มะเขือเทศ น้ำส้มสายชู หรือมะนาว
- หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อาจมีนิกเกิลเจือปน โดยเฉพาะประเภทแต่งสี เช่น อายแชโดว์ ลิปสติก หรือรองพื้น อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมถึงนิกเกิล
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะที่มีนิกเกิลในกระบวนการผลิต เช่น เครื่องมือในอุตสาหกรรม หากทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้หรือผลิตวัสดุที่มีนิกเกิล ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เช่น การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
- ระวังอาหารที่มีนิกเกิลสูง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช ช็อกโกแลต และอาหารทะเล โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้นิกเกิล อาจต้องควบคุมการรับประทานอาหารเหล่านี้อย่างเคร่งครัด
-
ทองแดง (Copper)
ทองแดง คือ โลหะที่มีสีแดงอมส้ม มีคุณสมบัติเด่นในการนำไฟฟ้าและความร้อนได้ดีมาก จึงมักถูกใช้ในการผลิตสายไฟ ท่อประปา เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แม้ว่าทองแดงจะเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณน้อย แต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยเฉพาะจากการปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และปัญหาทางการทำงานของตับ ภาวะพิษจากทองแดง (Copper toxicity) ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออุจจาระเป็นสีดำ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น โรควิลสัน (Wilson’s Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับทองแดงส่วนเกินได้
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่มีทองแดงในกระบวนการผลิต
- ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่ม โดยเฉพาะในบ้านที่มีท่อทองแดง เพราะทองแดงสามารถละลายเข้าสู่น้ำประปาได้ โดยเฉพาะเมื่อน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดหรือมีอุณหภูมิสูง
- ใช้ความระมัดระวังเมื่อใช้เครื่องครัวทองแดง เช่น น้ำมะนาวที่บรรจุในเหยือกทองแดงนาน ๆ อาจดูดซึมโลหะจากภาชนะได้ ดังนั้น ผู้ที่ใช้เครื่องครัวทองแดงควรหลีกเลี่ยงการเก็บของเปรี้ยวหรือของเหลวไว้นาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีทองแดงในระดับสูง เช่น ตับสัตว์ หอยนางรม หอยเชลล์ ปลาทะเลบางชนิด เป็นต้น
- ตรวจสุขภาพและระดับแร่ธาตุในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
-
ซิงค์ (Zinc)
ซิงค์ คือ โลหะที่มีลักษณะเป็นสีเงินอมฟ้า พบได้ตามธรรมชาติในแร่ดิน น้ำ และแหล่งแร่ต่าง ๆ รวมทั้งใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เช่น การชุบโลหะ (Galvanization) การผลิตแบตเตอรี่ สี สารเคลือบ ยาง พลาสติก และเซรามิกบางชนิด ซิงค์เป็นแร่ธาตุโลหะที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากมีการสัมผัสหรือบริโภคซิงค์ในปริมาณที่สูงผิดปกติ จะนำไปสู่การเกิดภาวะพิษจากซิงค์ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ปัญหากับระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ปวดศีรษะ มึนงง รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุอื่น โดยเฉพาะทองแดงและธาตุเหล็ก ทำให้เกิดภาวะขาดแร่ธาตุ การสูดฝุ่นซิงค์หรือควันโลหะ ยังอาจทำให้เกิดภาวะไข้จากไอโลหะ (Metal fume fever) ซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไอ หายใจติดขัด ตัวร้อน
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีซิงค์ในปริมาณสูงเกินไปหรือเกินความจำเป็น โดยร่างกายต้องการเพียง 8-11 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่ และหากได้รับเกิน 40 มก./วัน อาจเป็นอันตรายได้
- หลีกเลี่ยงน้ำดื่มจากท่อหรือภาชนะเคลือบซิงค์ โดยเฉพาะในกรณีที่น้ำมีฤทธิ์เป็นกรดหรือระบบน้ำไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
- ใช้หน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อทำงานในโรงงาน และควรได้รับการตรวจสุขภาพและระดับแร่ธาตุในร่างกายเป็นประจำ หากอยู่ในพื้นที่หรืออาชีพที่มีความเสี่ยง
-
อลูมิเนียม (Aluminum)
อลูมิเนียม คือ โลหะเบาที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม ภาชนะทำอาหาร ฟอยล์ห่ออาหาร ไปจนถึงในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเครื่องบิน แม้จะไม่จัดเป็นโลหะหนักโดยตรงในเชิงเคมี แต่ในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อสะสมในร่างกาย อลูมิเนียมสามารถจัดอยู่ในกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังเช่นเดียวกับโลหะหนักอื่น ๆ การสะสมอลูมิเนียมในร่างกายอาจทำให้เกิดปัญหาด้านระบบประสาท เช่น ภาวะอัลไซเมอร์ โดยการสะสมในปริมาณสูงอาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้ อลูมิเนียมอาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ทำให้กระดูกเปราะ และทำให้การทำงานของไตแย่ลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หากเด็กเล็กได้รับอลูมิเนียมมากเกินไป อาจมีผลต่อพัฒนาการของสมองและร่างกาย
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอลูมิเนียมในส่วนประกอบ เช่น ยารักษาโรคหรือเครื่องสำอาง โรลออนระงับกลิ่นที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมคลอไรด์ ยาลดกรด (Antacid) ยาระบาย ยาสีฟัน
- ตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจมีอลูมิเนียมก่อนเลือกใช้
- หลีกเลี่ยงอาหารและน้ำดื่ม โดยเฉพาะอาหารแปรรูป อาหารที่เป็นกรด เช่น มะนาว ซอสมะเขือเทศ หรืออาหารที่ผ่านการปรุงด้วยภาชนะอลูมิเนียม หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยภาชนะอลูมิเนียม เพราะจะทำให้อลูมิเนียมละลายออกมาได้ง่าย
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “ปราศจากอลูมิเนียม (Aluminum-free)” เช่น ในโรลออนหรือยาสีฟัน
-
ทังสเตน (Tungsten)
ทังสเตน คือ โลหะที่มีความแข็งแรงและทนความร้อนสูงมาก เป็นโลหะหนักที่มีจุดหลอมเหลวสูงที่สุดในโลกหรือสูงถึง 3,422°C มีคุณสมบัติแข็ง ทนต่อแรงดึงและการสึกหรอ เป็นที่รู้จักดีในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตไส้หลอดไฟ อุปกรณ์ตัดโลหะ หัวเจาะ และอาวุธ ถึงแม้ทังสเตนจะไม่เป็นพิษรุนแรงเท่าโลหะหนักอื่น ๆ เช่น ปรอทหรือสารตะกั่ว แต่หากมีการสัมผัสบ่อย ๆ โดยเฉพาะในรูปของฝุ่นทังสเตต หรือผงละเอียด ก็อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ การสูดดมฝุ่นทังสเตนอาจระคายเคืองต่อปอด ส่งผลให้หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ส่งผลต่อการทำงานของไตและตับ หากมีการสะสมในระดับสูง และอาจมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและสมอง
วิธีหลีกเลี่ยง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเครื่องมือที่ทำจากทังสเตน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากกันฝุ่นโลหะ ถุงมือ และชุดป้องกันเมื่อต้องสัมผัสหรือทำงานกับทังสเตน
- หลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่นผงจากโลหะหรือสารเคมีที่มีทังสเตน ผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีฝุ่นโลหะควรสวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลา
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะระบบหายใจ ไต และตับ สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พนักงานในโรงงานหลอมโลหะ ผู้ทำงานเกี่ยวกับการเชื่อม ตัดโลหะ หรืองานวิจัยที่ใช้ทังสเตน บุคลากรทางทหาร
-
โครเมียม (Chromium)
โครเมียม คือ ธาตุโลหะสีเทาเงิน มันวาว ทนทานต่อการกัดกร่อน ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เช่น การชุบโลหะ (Chrome plating) การผลิตสเตนเลสสตีล การผลิตสี สีย้อม และพลาสติก โดยทั่วไปแล้วโครเมียมมีทั้งในรูปแบบที่จำเป็นต่อร่างกาย และในรูปแบบที่เป็นพิษ หากสูดดมฝุ่นหรือไอระเหยของโครเมียมบ่อยครั้ง อาจเกิดอาการระคายเคืองจมูก คอ ปอด และเพิ่มความเสี่ยงต่อ มะเร็งปอด อาการแพ้ ระคายเคือง ผื่น หรือแผล หากได้รับโครเมียมทางการกิน เช่น น้ำดื่มปนเปื้อน อาจส่งผลต่อ ตับ ไต และกระเพาะอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือไตวาย
วิธีหลีกเลี่ยง:
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่มีโครเมียม หากทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากกรองฝุ่น โล่ป้องกันหน้า และเสื้อผ้าป้องกัน
- ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าจะมีการปนเปื้อน เนื่องจากโครเมียมอาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดินจากของเสียอุตสาหกรรมหรือสารเคมีที่รั่วซึม
- ผู้ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ควรตรวจเลือดและตรวจสุขภาพระบบหายใจและตับ-ไตเป็นประจำ
กังวลว่าจะมีโลหะหนักสะสมในร่างกาย ตรวจสอบได้ด้วยวิธีเหล่านี้
การสะสมของโลหะหนักในร่างกายอาจไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก ๆ ซึ่งทำให้การตรวจหาโลหะหนักในร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญในการดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบระดับโลหะหนักสามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือการตรวจเลือดและปัสสาวะ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถประเมินระดับการสะสมของโลหะหนักในร่างกายและการทำงานของระบบต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ โดยทั้งสองวิธีนี้มีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
-
ตรวจเลือด (Blood Test) เหมาะสำหรับการประเมินการสัมผัสโลหะหนักในระยะเฉียบพลัน
การตรวจเลือดเป็นวิธีพื้นฐานที่แพทย์มักใช้เพื่อดูว่าร่างกายมีโลหะหนักในระดับสูงผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่ามีการสัมผัสเฉียบพลัน เช่น จากอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม หรือจากการบริโภคอาหาร/ยาเสริมที่มีปนเปื้อน
ข้อดี: ได้ผลรวดเร็ว มีความแม่นยำ เหมาะกับการวินิจฉัยเร่งด่วน
ข้อจำกัด: อาจไม่สะท้อนการสะสมในระยะยาว เพราะโลหะบางชนิดอาจเก็บอยู่ในตับ ไต หรือสมอง ไม่ใช่ในเลือด
-
ตรวจปัสสาวะ (Urine Test) ใช้ประเมินระดับการขับออกของโลหะจากร่างกาย
การตรวจปัสสาวะสามารถสะท้อนการขับโลหะออกจากร่างกายได้ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องการติดตามผลหลังการล้างพิษ (Chelation Therapy) หรือดูการขับสารออกในคนทั่วไป
ข้อดี: ไม่ต้องเจาะเลือด สะดวก เหมาะกับผู้ที่ต้องมีการตรวจซ้ำหลายครั้ง
ข้อจำกัด: ผลตรวจขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่ม และการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง (บางครั้งต้องเก็บตลอด 24 ชั่วโมง)
Medical Line Lab พร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์โลหะหนักทั้งในเลือดและปัสสาวะ ด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ช่วยในการประเมินระดับของโลหะหนักที่สะสมในร่างกาย ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์เข้าใจถึงสภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้น และหาวิธีการรักษาหรือการป้องกันที่เหมาะสม
สอบถามหรือจองคิวตรวจหาโลหะหนักในร่างกายกับ Medical Line Lab ได้ที่ช่องทางดังนี้
เบอร์โทรศัพท์: 02-374-9604
Line: https://page.line.me/259wtcig?openQrModal=true
Contact us: https://www.medicallinelab.co.th/ติดต่อสอบถาม/
Website: https://www.medicallinelab.co.th/
Facebook: https://www.facebook.com/MLLmedicallinelab
Email: info@medicallinelab.co.th