แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก คืออะไร ภัยร้าย พิษแรง หากโดนกัดควรปฏิบัติอย่างไร

แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก คืออะไร ภัยร้าย พิษแรง หากโดนกัดควรปฏิบัติอย่างไร

แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก เป็นแมลงที่มีพิษร้ายแรง แม้รูปร่างภายนอกจะดูไม่น่ากลัวเหมือนแมลงหรือสัตว์มีพิษชนิดอื่น ๆ แต่พิษของแมลงชนิดนี้ก็สามารถสร้างความเจ็บปวดจากอาการพุพอง แสบร้อน ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การทราบถึงวิธีปฏิบัติตนเมื่อสัมผัสพิษจากแมลงก้นกระดกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการและความรุนแรงของพิษได้เป็นอย่างดี

แมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก (Rove beetles) คืออะไร

ด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน ด้วงปีกสั้น แมลงเฟรชชี่ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าแมลงก้นกระดก คือ แมลงปีกแข็งขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แมลงชนิดนี้จะมีลำตัวเป็นสีดำสลับกับสีส้มเป็นปล้อง ๆ มีความยาวประมาณ 4-7 มิลลิเมตร โดยมีลักษณะเฉพาะคือการยกส่วนก้นขึ้นเวลาถูกรบกวนหรืออยู่ในสถานการณ์อันตรายคล้ายกับการกระดกก้น ทั้งนี้ การได้รับพิษจากแมลงก้นกระดกไม่ใช่เป็นการถูกแมลงกัดหรือต่อย แต่เป็นการสัมผัสพิษกรดจากสารพาเดอริน (Pederin) ที่แมลงก้นกระดกปล่อยออกมา โดยกรดชนิดนี้สามารถสร้างความระคายเคืองอย่างรุนแรงเมื่อสัมผัสกับผิว และจะเกิดเป็นผื่นแดง พุพอง และอาจมีอาการแสบร้อน เป็นรอยไหม้ร่วมด้วยหลังจากสัมผัสพิษได้ 8-12 ชั่วโมง

 

ประเภทของแมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดกหรือด้วงก้นกระดกมีมากกว่า 63,000 ชนิดทั่วโลก โดยสามารถแบ่งประเภทตามสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการดำรงชีวิต ได้แก่

  • แมลงก้นกระดกที่อาศัยในดิน พบในดินที่มีลักษณะชื้นและมีเศษซากพืชถับถม โดยเป็นกลุ่มแมลงก้นกระดกที่ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์
  • แมลงก้นกระดกที่อาศัยในต้นพืชและสวน มักพบในพืชไร่ สวน หรือแปลงผัก บางชนิดกินแมลงขนาดเล็กที่เป็นศัตรูพืชเป็นอาหาร
  • แมลงก้นกระดกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชื้นแฉะ พื้นที่ใกล้น้ำ หรือป่าชื้น มักพบในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย โดยเฉพาะในฤดูฝน

 

แมลงก้นกระดกชอบอาศัยอยู่ที่ไหน

แมลงก้นกระดกที่พบในไทยมักอาศัยอยู่ในสวน พื้นที่เพาะปลูก และแปลงผัก โดยจะซ่อนตัวในที่มืดชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใบไม้ที่ร่วงหล่น หรือซอกเล็ก ๆ ตามพื้นที่ชื้นในบ้าน โดยแมลงก้นกระดกยังถูกดึงดูดด้วยแสงไฟในบ้านเรือนและอาคาร ทำให้มักเข้ามาในบ้านเรือนในช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะในฤดูฝนที่ความชื้นสูง ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของแมลงชนิดนี้

 

อาหารของแมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดกเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เนื่องจากช่วยควบคุมจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืชโดยการล่าแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร อาหารหลักของแมลงก้นกระดกประกอบด้วยแมลงที่อ่อนแอหรือแมลงขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยอ่อน ไร และแมลงศัตรูพืชอื่น ๆ รวมถึงไข่ของแมลงและตัวอ่อนของแมลงอื่น ๆ  และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในดินหรือเศษซากพืช นอกจากนี้ แมลงก้นกระดกยังช่วยย่อยสลายเศษซากพืชและซากสัตว์ และบางชนิดยังกินเชื้อราหรือจุลินทรีย์เล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในดินเป็นอาหาร ทำให้แมลงก้นกระดกมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศดิน

 

หากพบเจอแมลงก้นกระดกควรทำอย่างไร

หากพบเจอแมลงก้นกระดก สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตนอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสพิษที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองรุนแรงบนผิวหนัง ดังนี้

  • ห้ามใช้มือสัมผัสแมลงโดยตรง หากแมลงเกาะอยู่บนร่างกาย ไม่ใช้มือปัดหรือบดขยี้แมลง การบี้ ตบ ตี จะทำให้พิษในตัวของแมลง ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวถูกขับออกมา แนะนำให้ใช้กระดาษหรือวัสดุอื่นค่อย ๆ ปัดหรือสะบัดแมลงออกอย่างเบามือ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนัง หากเผลอสัมผัสแมลงแล้ว ควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันทีเพื่อป้องกันพิษแพร่กระจาย
  • ทำความสะอาดบริเวณที่พบแมลงหรือวัตถุที่แมลงสัมผัส เพื่อป้องกันการแพร่พิษ
  • ลดแสงไฟในบ้าน โดยเฉพาะในฤดูฝน เพื่อลดการดึงดูดแมลงเข้ามาในบ้าน

อาการจากแมลงก้นกระดกต่อย

 

อาการของคนที่โดนพิษของแมลงก้นกระดก หรือโดนแมลงก้นกระดกต่อย

แมลงก้นกระดกไม่ได้ต่อยหรือกัด แต่เกิดจากการปล่อยสารพิษที่เรียกว่า “พาเดอริน” เมื่อถูกบดขยี้หรือสัมผัส   ทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสพิษเกิดผื่นแดงภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัส จากนั้นจะเกิดการพุพองและแสบร้อน โดยอาจพัฒนาเป็นตุ่มน้ำหรือแผลพุพอง ซึ่งทำให้รู้สึกแสบร้อนและคันมาก ในบางกรณี อาจเกิดแผลอักเสบเป็นเส้นคล้ายรอยไหม้ หรือเป็นทางตามการเกาของผู้ที่สัมผัส อาการเหล่านี้มักจะคงอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แผลอาจอักเสบรุนแรงและใช้เวลารักษานานขึ้น และแผลอาจลุกลามหากมีการติดเชื้อ

 

วิธีรักษาที่ถูกต้องหากโดนพิษของแมลงก้นกระดก

  • หากรู้ตัวว่าสัมผัสกับแมลงก้น ควรล้างบริเวณนั้น ๆ ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที หรือใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผลล้าง เพื่อชะล้างพิษออกและป้องกันการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่มีผื่น แผลพุพอง หรือตุ่มน้ำ เพราะอาจทำให้พิษกระจายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • หากเกิดตุ่มน้ำและรอยแดง ทาครีมหรือยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและคัน ยาที่นิยมใช้ได้แก่ ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือครีมที่มีส่วนผสมของสารแก้แพ้
  • รับประทานยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) หากมีอาการคันรุนแรง
  • หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน หรือแผลลุกลาม อักเสบมาก ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

 

วิธีป้องกันแมลงก้นกระดก

  • แมลงก้นกระดกถูกดึงดูดโดยแสงไฟ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ควรลดการใช้แสงไฟที่ส่องออกไปนอกบ้าน หรือใช้ม่านทึบแสงเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงบินเข้ามา
  • ปิดหน้าต่างและประตูให้มิดชิด หรือใช้มุ้งลวดที่สามารถกันแมลงได้ โดยเฉพาะในฤดูฝน
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือทำงานใกล้แสงไฟในเวลากลางคืน
  • ทำความสะอาดบ้านให้ปลอดจากเศษขยะ เศษพืช ใบไม้ หรือซอกมุมที่มีความชื้น ซึ่งเป็นแหล่งหลบซ่อนของแมลงก้นกระดก
  • สวมเสื้อผ้าปกปิดแขนและขาให้มิดชิดเมื่อทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลากลางคืน
  • หากพบแมลงก้นกระดก ห้ามใช้มือสัมผัส ควรใช้กระดาษปัดแมลงออกจากร่างกาย หรือใช้วิธีเป่าออก

 

สรุป

แมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก เป็นแมลงขนาดเล็กที่มีพิษร้ายแรง สามารถพบได้ในพื้นที่ชื้น เช่น ป่า สวน และบริเวณใกล้แหล่งน้ำ หากพบแมลงก้นกระดกภายในบ้าน ควรใช้ไม้กวาด กระดาษ หรือวัตถุอื่น ๆ ปัดแมลงออก หากสัมผัสกับพิษ รีบล้างผิวด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที และใช้ยาทาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการ การป้องกันสามารถทำได้โดยการลดแสงไฟในบ้าน ปิดหน้าต่างให้มิดชิด และทำความสะอาดพื้นที่เพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่อนของแมลง อย่างไรก็ตาม หากสัมผัสพิษแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

Ref:

https://redcross.or.th/news/information/17933/

https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Rove-Beetle-Beasts-in-the-Rainy-season

Scroll to Top