การตรวจสุขภาพประจำปี ก็มีข้อสำคัญบางประการที่เราควรทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจไปตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่เราไว้ใจ เพราะโปรแกรมตรวจสุขภาพทุกวันนี้ก็ใช่ว่าราคาถูก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไป
กระแสการดูแลสุขภาพในบ้านเราทุกวันนี้ นับว่าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากข่าวคราวการประชาสัมพันธ์สุขภาพ รวมถึงข่าวการรณรงค์และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่มีผลทำให้เราตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจากข้อมูลในเว็บไซต์หมอชาวบ้าน ได้แนะถึง 13 ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจไปตรวจสุขภาพ เพื่อที่เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่า การตรวจสุขภาพประจำปีนั้นมีความจำเป็นกับตัวเรามากน้อยแค่ไหน
ทำไม แต่ละปีคนไทยยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าตรวจสุขภาพนับพันล้านบาทต่อปี
เราจำเป็นต้องตรวจทุกปี หรือต้องตรวจปีละ 1-2 ครั้ง
ตรวจร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นเหมือนกันหรือไม่
ควรตรวจแบบไหนถึงจะไม่มี “โรค” ติดตัวกลับบ้าน
1. การตรวจสุขภาพ คืออะไร และตรวจอะไรกันบ้าง
การตรวจสุขภาพตามสถานพยาบาลทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ ตรวจเพื่อค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา และตรวจเพื่อค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้
ตรวจเพื่อค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา เป็นการตรวจสุขภาพที่ผู้ตัวถูกตรวจเองยังไม่มีปรากฏอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติใด ๆ ให้สังเกตได้ เช่น โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรกเป็น ที่เราเรียกกันว่า “ภัยเงียบ” แต่กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว และเราค่อยไปตรวจนั้น ไม่ถือว่าเป็นการตรวจสุขภาพ เรียกว่าเป็นการตรวจเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอะไรมากกว่า ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยโปรแกรมการตรวจร่างกายนั้น อาจต้องมีการตรวจแล็บหรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเพื่อยืนยันผล เมื่อทราบผลการตรวจที่แน่นอนแล้วก็จะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสม
ตรวจเพื่อค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง
และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เป็นการตรวจเพื่อจะได้รู้ว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง และถ้าพบว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไร แพทย์ที่ตรวจก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
2. ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้หลักการตรวจเหมือนกันหรือไม่
การตรวจสุขภาพทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ ค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวและค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งกรณีของเด็กจะเป็นการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงการตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดปกติ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดกับเด็ก
3. การตรวจสุขภาพ “จำเป็น” หรือไม่
การตรวจสุขภาพยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมีหลายโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น เพราะการที่ไปตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยที่ร่างกายยังไม่มีอาการแสดงนั้น จะมีโอกาสตรวจพบโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” ในระยะแรกเริ่มมากกว่า อีกทั้ง การที่เจอโรคตั้งแต่แรกจะเยียวยารักษาได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก หรือรักษาให้หายขาดได้เพียงแต่ต้องตรวจตามที่จำเป็นและเหมาะสมกับตัวเราเท่านั้น มิเช่นนั้นจะเกิดโทษได้
4. ทุกคนต้องตรวจสุขภาพแบบ “เหมาโหล” ตามโฆษณาหรือไม่
บอกได้เลยว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพทุกรายการแบบเหมาโหล
5. การตรวจสุขภาพ ต้องตรวจให้เหมาะสมกับแต่ละคน
สาเหตุเพราะสุขภาพของแต่ละคนนั้นมีปัญหาต่างกันออกไป ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกอย่างเหมือนกันตามที่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกลูกค้าดังนั้น ควรตรวจสุขภาพเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับแต่ละคนเท่านั้นดีกว่า หากตรวจเกินจำเป็นจะทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และการตรวจบางอย่างอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้
6. จำเป็นต้องตรวจสุขภาพทุกปีด้วยหรือ
สถานพยาบาลหลายแห่งใช้สำนวนทางการตลาดว่า “ตรวจสุขภาพประจำปี” ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิด เพราะ “ประจำปี” ฟังดูเสมือนว่า “ต้องตรวจเป็นประจำทุกปี” แต่ความจริงแล้ว ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เครื่องยนต์กลไก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี เพียงแต่ควรตรวจตามความจำเป็นของแต่ละคน ขึ้นกับอายุ เพศ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น กินอาหารรสจัด (หวาน มัน เค็ม) ทุกวันบริโภคเกินจนอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพควบคู่กับการไปตรวจร่างกาย
เมื่อพูดถึงเรื่องอายุ ขอพาดพิงกลุ่มเด็กด้วย นั่นคือ ไม่แนะนำให้ตรวจร่างกายเด็กทุกคน ยกเว้นเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (เด็กอ้วน)
7. อะไรคือ การตรวจสุขภาพที่เหมาะสม
ก่อนที่จะไปสถานพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ เราควรรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าจะไปตรวจอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้การตรวจสุขภาพผิดพลาด เพราะการตรวจสุขภาพนั้นจะต้องซักประวัติอย่างละเอียด ที่จะช่วยให้ค้นพบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเมื่อรู้ปัจจัยเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการตรวจร่างกายและตรวจแล็บ (ห้องปฏิบัติการ) เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพราะบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจแล็บเลยก็ได้
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ สถานพยาบาลส่วนใหญ่มักให้มุ่งประเด็นการตรวจสุขภาพ ด้วยการเน้นความสำคัญกับการตรวจแล็บมากกว่าการชักประวัติอย่างละเอียด จึงทำให้มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่า การตรวจสุขภาพคือการตรวจหาโรคโดย ตรวจแล็บเป็นหลัก และต้องมุ่งเน้นการรักษาจากหมอเท่านั้น ทำให้ละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง
8. ผลจากการตรวจแล็บมั่นใจได้แค่ไหน
แม้ว่าผลของการตรวจแล็บจะน่าเชื่อถือได้ แต่ก็ขออย่าได้มั่นใจการตรวจแล็บ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะก็ยังมีกรณีที่ผลการตรวจแล็บหลายรายการขาดความแม่นยำ ซึ่งหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น แพทย์ควรแจ้งให้ผู้ถูกตรวจทราบด้วย ส่วนผลการตรวจแล็บที่ออกมาจะอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้
1. ผลลบจริง ไม่เป็นโรค
2. ผลบวกจริง เป็นโรค
3. ผลลบลวง เป็นโรคแฝงอยู่ แต่ตรวจไม่พบ
4. ผลบวกลวง ไม่เป็นโรค แต่ผลการตรวจเบ้องต้นว่าเป็นโรค
ถ้าไปตรวจร่างกายแล้วผลแล็บออกมาว่าเป็นโรค (อาจเป็น “บวกจริง” หรือ “บวกลวง” ก็ได้) แพทย์จึงต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริง เพื่อจะให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม
9. การตรวจสุขภาพมีทั้ง ประโยชน์ และ โทษ
การตรวจสุขภาพจะมีประโยชน์อย่างมาก หากทำอย่างถูกต้องตามหลักการ เพราะโรคบางโรคนั้น หากตรวจพบระยะแรกก็จะรักษาได้ผลดีหรือหายขาดได้ แต่ถ้ามุ่งเน้นการตรวจหาโรคโดยไม่จำเป็นจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคที่ยังไม่มีการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ารักษาได้ หรือรักษาระยะแรกไม่ได้ผลดี จะทำให้ผู้รับการตรวจย่อมเกิดความวิตกกังวลได้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครื่องมือที่ใช้ตรวจก็ไม่ได้ให้ผลแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์อีกด้วย ซึ่งผลการตรวจที่ออกมานั้น หากตรวจแล้วพบ “ผลลบลวง” ก็จะทำให้ผู้ถูกตรวจชะล่าใจและไม่ปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอีก หรือกรณีที่ตรวจแล้วได้ “ผลบวกลวง” ก็ต้องเจ็บตัว เพราะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก อีกทั้ง การตรวจเพิ่มเติมบางอย่างเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย
10. การตรวจสุขภาพคู่กับการส่งเสริมสุขภาพ
การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้นควรมุ่งให้ผู้ถูกตรวจดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ใช่การไปพึ่งพาแพทย์ หรือโรงพยาบาล ดังนั้น หลังจากการตรวจสุขภาพแล้ว แพทย์ต้องให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ดังเช่นคำว่า การส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งหมายความว่า หลังจากทราบผลการตรวจสุขภาพแล้วไม่ป่วย แข็งแรงดี ก็ควรแนะถึงวิธีที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น หรือผลตรวจสุขภาพของคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรจะแนะวิธีการที่จะทำให้พวกเขาหันกลับมาดูแลตัวเอง เช่น เดิมไม่ออกกำลังกาย อาจแนะให้เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาออกกำลังกายกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงบางคนที่ผลการตรวจสุขภาพพบว่าเป็นโรคเบาหวาน การปฏิบัติตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพเหล่านี้ก็จะสามารถคุมน้ำตาลได้ ทำให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือพิการ
11. การตรวจสุขภาพตนเองทำอย่างไร
ทุกคนสามารถตรวจสุขภาพตนเองง่าย ๆ เช่น การตรวจว่าตัวเองยังมีพฤติกรรมสุขภาพอะไรที่ไม่เหมาะสม การตรวจวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนักดูว่าเกินปกติหรืออ้วนไหม ด้วยการวัดเส้นรอบเอว มีวิธีการวัดเส้นรอบเอวตัวเองอย่างง่าย ๆ คือ เริ่มวัดจากแนวสะดือแล้วนำค่าที่ได้หารส่วนสูง
คนปกติจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่ เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง
โดยมาตรฐานแล้ว คนเราควรจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง เช่น คนที่สูง 160 เซนติเมตร เส้นรอบเอวไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร ถ้าเกินกว่านี้แสดงว่าลงพุง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองตีบตัน
12. การเอกซเรย์ปอด บอกอะไรได้บ้าง
ปัจจุบัน การเอกซเรย์ปอดเป็นวิธีการหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยวัณโรคปอด ร่วมกับการตรวจเสมหะสำหรับผู้ที่มีอาการน่าสงสัย เช่น ไอเรื้อรัง หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น
แต่การเอกซเรย์ปอดไม่เหมาะกับการตรวจสุขภาพของคนทั่วไปที่ไม่มีอาการหรือไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เพราะการตรวจคัดกรองในคนที่ไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงใด ๆ นั้นไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ไม่มีความคุ้มค่า และยังเพิ่มความเสี่ยงจากการได้รับรังสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
สำหรับกรณีของโรคมะเร็งปอด การเอกซเรย์ปอดจะตรวจพบโรคนี้ได้ในระยะท้าย ๆ ซึ่งตรวจพบแล้วก็กลับทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการรักษาแล้ว ดังนั้น ควรมุ่งเน้นที่การป้องกันโดยการไม่สูบบุหรี่ (ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด) เป็นสำคัญ
13. โรคมะเร็งกับการตรวจสุขภาพ
คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า “มะเร็ง” ก็มักจะเกิดความรู้สึกตระหนก ตกใจกลัว และวิตกกังวลถึงขนาดกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก
ขอเริ่มที่ “มะเร็งปากมดลูก”ก่อน
ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ด้วยวิธีที่เรียกว่า “แปปสเมียร์” (Pap smear) โดยให้ตรวจอย่างสม่ำเสมอทุก 5 ปี ตั้งแต่อายุ 30-60 ปี หรือเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้สามารถรักษาได้ผลดีหรือหายขาด
สำหรับ “มะเร็งเต้านม” นั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการคลำเต้านมลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะก้อนมะเร็งที่คลำได้มักเป็นมะเร็งระยะลุกลามแล้ว การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมนั้น มีข้อแนะนำให้ผู้หญิงตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปี หรือ 50 ปี ตรวจทุก 3 ปี ไปจนถึงอายุ 70 ปี
มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยทั่วไปถือว่าเป็นมะเร็งที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยหลายรายไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้ จึงไม่แนะนำให้ตรวจเลือด เพื่อค้นหาโรคนี้ที่ไม่มีอาการ เพราะมีโอกาสตรวจพบ “ผลบวกลวง” มาก ซึ่งเมื่อมี “ผลบวก” ส่วนใหญ่เป็นผลบวกลวง ก็จะมีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมก็อาจเกิดโทษ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือการเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในประชากรทั่วไป
สรุป ขั้นตอนการตรวจสุขภาพเบื้องต้นที่เราควรรู้ไว้
1. มีการซักประวัติ เพื่อประเมินหาปัจจัยเสี่ยง
2. เข้ารับการตรวจร่างกาย โดยแบ่งเป็นตรวจทั่วไปและตรวจตามปัจจัยเสี่ยง
3. เข้าตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแล็บ) โดยเลือกตรวจตามปัจจัยเสี่ยง
4. แพทย์ทำการประเมินปัจจัยเสี่ยง แก้ไขหรือรักษาโรค
5. แพทย์ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพระดับชาติ ซึ่งหน่วยงานนี้ต้องมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม มีการตรวจสอบควบคุมมาตรฐาน และติดตามการดำเนินงานในการตรวจสุขภาพของภาครัฐและเอกชนรวมทั้งให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ประชาชนด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเพจ http://health.kapook.com/