โรคกระเพาะอาหารอักเสบ คืออะไร
กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่มีน้ำย่อยและกรดที่เข้มข้นสำหรับใช้ในการย่อยอาหาร ดังนั้น ผนังของเยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงต้องมีกลไกในการปรับสภาพให้ทนต่อกรดและน้ำย่อยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลในภาวะปกติ
โรคกระเพาะ หรือที่เรียกเต็ม ๆ ว่า ‘โรคกระเพาะอาหารอักเสบ’ คือ ภาวะการอักเสบของกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุของกระเพาะอาหารระคายเคือง แดง บวม และอาจมีแผลอักเสบ แม้ว่าโรคกระเพาะอาหารอักเสบจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะว่าหากปล่อยไว้เรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดไหลในกระเพาะอาหารจนเกิดภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
โรคกระเพาะอาหารอักเสบเป็นโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน พบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย สามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันในเวลาอันรวดเร็ว เป็นระยะสั้น ๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง เกิดแผลและเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคทางกระเพาะอาหารได้ โดยพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มากถึง 80%
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบมีดังนี้
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (pylori) ผ่านการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ
- การรับประทานยากลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) และยาต้านเกล็ดเลือด
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการดื่มเครื่องดื่ม กาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
- การสูบบุหรี่
- ภาวะเครียด วิตกกังวล
- พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เป็นต้น
อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
อาการแสดงของโรคกระเพาะอาหารอักเสบในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ดังนี้
- ปวด เสียด ตื้อ จุก และแน่นบริเวณกระเพาะอาหาร (ใต้ลิ้นปี่) แบบเป็น ๆ หายๆ
- ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย แน่นท้อง อึดอัดท้อง
- ปวดท้องก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- ปวดท้องตอนท้องว่างหรือปวดท้องกลางดึก
- คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- เมื่อเป็นมาก อาจอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยได้
วิธีรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบเป็นโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่ดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันควบคู่ไปด้วย โดยผู้ป่วยสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ด้วยแนวปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารตรงเวลาทุกมื้อ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
- ไม่รับประทานจนอิ่มเกินไป ลดปริมาณอาหารมื้อหลัก และเสริมมื้ออาหารว่าง
- พยายามไม่ปล่อยให้ท้องว่างเกิน 3 ชั่วโมง และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- งดอาหารหมักดอง เช่น ผลไม้ดอง ผักดอง และอาหารประเภทของทอด ของมัน
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- งดสูบบุหรี่
- ไม่เครียดหรือวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาแก้ปวดหรือยาสเตียรอยด์
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ
- พบแพทย์ตามนัด และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ แย่ลงหรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
วิธีป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบสามารถป้องกันได้โดย
- สังเกตความสัมพันธ์ของอาการกับอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อจำกัดหรืองดอาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดอาการ หรือเพิ่มความรุนแรงของอาการ
- รับประทานแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่บ่อยครั้ง และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- งดอาหารรสเผ็ดและรสจัด
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินและยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
โรคกระเพาะอาหารอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย ดังนั้น ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกวิธี แต่หากมีอาการแย่ลง อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรรีบพบแพทย์และรับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
สนใจขอรับบริการตรวจสุขภาพกับทาง Medical line lab สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางดังนี้
เบอร์โทรศัพท์: 02-374-9604
Line: https://page.line.me/259wtcig?openQrModal=true
Contact us: https://www.medicallinelab.co.th/ติดต่อสอบถาม/
Website: https://www.medicallinelab.co.th/
Facebook: https://www.facebook.com/MLLmedicallinelab
Email: info@medicallinelab.co.th