ภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เห็นได้จากพื้นที่บางจังหวัดของประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน ซึ่งในบางครั้ง ร่างกายของเราไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนหัว ขาดน้ำ และที่อันตรายที่สุด คือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเป็นโรคร้ายที่พบเจอได้ในช่วงหน้าร้อนและถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้
ฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด คืออะไร
ฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น หรือมีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติหรือล้มเหลว จนนำไปสู่การเกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ไต ปอด หรือกล้ามเนื้อ โดยฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดมักเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือในพื้นที่ที่มีความชื้นในอากาศสูง ถือเป็นโรคร้ายใกล้ตัวที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
อาการของฮีทสโตรก (Heatstroke)
• ตัวร้อนจัด หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
• ผิวหนังแห้งและร้อน
• ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
• วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด
• คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
• สับสนเฉียบพลัน หงุดหงิด ฉุนเฉียว เพ้อ
• ความดันโลหิตลดลง
• หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
• กระหายน้ำอย่างรุนแรง
• ชักกระตุก เกร็ง หรือหมดสติ
สัญญาณเตือนของฮีทสโตรก
หากพบว่ามีอาการเตือนของฮีทสโตรกเหล่านี้ ควรหยุดพักทำงานหรือหยุดทำกิจกรรมในทันที และหลบไปพักในร่มที่มีอากาศถ่ายเท และพยายามลดอุณหภูมิของร่างกายให้เย็นลงด้วยการให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ
• ผิวหนังแดงร้อนและแห้ง ไม่มีเหงื่อออก
• รู้สึกกระหายน้ำอย่างรุนแรง
• หายใจถี่ ใจสั่น ชีพจรเต้นแรง
• ปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
• อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน
สาเหตุของฮีทสโตรก
ฮีตสโตรกหรือโรคลมแดดเกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ประกอบกับการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ออกกำลังกายกลางแจ้ง ใช้แรงมาก ดื่มน้ำน้อย หรือสวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากจนร่างกายรับไม่ไหว และเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ชัก หมดสติ หัวใจหยุดทำงานจนถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของฮีทสโตรก
• การสัมผัสกับอากาศร้อนจัดหรือแสงแดดจัดอย่างฉับพลัน อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างกะทันหัน
• การอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นมาก ทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดีและอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงพื้นที่อับลม ซึ่งไม่มีลมช่วยพัดระบายความร้อน
• กลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งสูญเสียความร้อนได้ง่ายกว่าคนปกติ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคพาร์กินสัน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน
• การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น อีกทั้งออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
• ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมแดดหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน
• การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการรักษาความชุ่มชื้นและตอบสนองต่อความร้อน เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ ยาทางจิตเวช ยาต้านอาการซึมเศร้า
• การใช้สารกระตุ้นที่ผิดกฎหมาย เช่น แอมเฟตามีน โคเคน ฯลฯ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยฮีทสโตรก
เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ดังนี้
• รีบนำผู้ป่วยเข้าร่มและต้องเป็นพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง
• จัดให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
• คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อช่วยร่างกายระบายความร้อน
• ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณซอกคอ ลำตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย และใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน
• หากผู้ป่วยยังมีสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
• ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
ผลกระทบระยะยาวของฮีทสโตรก
ฮีตสโตรกเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาหรือรักษาไม่ทันท่วงที ระบบภายในร่างกายและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน ตับทำงานผิดปกติ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อโครงร่างสลาย เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือลิ่มเลือดอุดตันในร่างกาย เซลล์ประสาทถูกทำลายอย่างถาวร เสี่ยงต่อการทุพพลภาพในระยะยาวได้
ข้อแนะนำในการป้องกันฮีทสโตรก
• หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด หรือมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส
• สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี โปร่ง ไม่หนา
• หมั่นจิบน้ำบ่อย ๆ ให้ได้อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย
• เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง โดยเฉพาะในรถที่จอดกลางแดด
• สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย ต้องอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง และควรออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท เปลี่ยนไปออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นแทน
• หากอยู่ในบ้าน เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศระบาย เปิดพัดลมเพื่อช่วยถ่ายเทความร้อน
• ในผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการผิดปกติหรือพบสัญญาณเตือนของฮีทสโตรก ให้รีบพบแพทย์ทันที
สถิติผู้ป่วยฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดดในไทย
จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานว่าระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2564 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนสะสมทั้งสิ้น 234 คนเฉลี่ย 33 คนต่อปี และมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500-3,000 คนต่อปี ส่วนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของปี พ.ศ. 2560-2566 พบผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนจำนวน 24, 18, 57, 12, 7, 8 และ 37 คน ตามลำดับ และพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
Ref:
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ฮีตสโตรกจากอากาศร้อน/#:~:text=ฮีตสโตรกหรือ,จากกลุ่มผู้ป่วยที่
https://www.med.cmu.ac.th/web/uncategorized/1006/
https://ddc.moph.go.th/odpc7/news.php?news=24196&deptcode=odpc7&news_views=4272