อาชีวอนามัย

อาชีวอนามัยกับมาตรฐานความปลอดภัยเบื้องต้น ที่ควรรู้

อาชีวอนามัย (Occupational Health) มีรากฐานมาจากคำว่า

  • อาชีวะ (Occupational) หมายถึง อาชีพ การประกอบอาชีพ
  • อนามัย (Health) หรือสุขภาพอนามัย หมายถึง สภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันจึงเกิดเป็นคำว่า “อาชีวอนามัย” ซึ่งได้แก่ การส่งเสริม ควบคุม ดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพการงานให้คงไว้ซึ่งสภาวะสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ด้วยดี รวมทั้งมีความปลอดภัยจากภัยคุกคาม อันตรายและความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการดูแลสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เครื่องมือเครื่องใช้ กระบวนการให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ประกอบอาชีพการงาน

 

อาชีวอนามัย

 

โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น แรงงานจึงมีความเสี่ยงมากขึ้น กระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้จึงได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจัดทำมาตรฐานและระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้สถานประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง ตลอดจนความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยเบื้องต้นที่ควรรู้มีดังนี้

  • มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง (มปอ. 101 : 2561)

เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้บังคับกฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานบนที่สูง เช่น งานอุตสาหกรรมทั่วไป งานก่อสร้าง งานสายส่งไฟฟ้า งานทำความสะอาดในที่สูง ฯลฯ โดยเน้นการขจัดความเสี่ยง ลดความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการในการป้องกันและยับยั้งลูกจ้าง รวมถึงวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากการพลัดตกจากที่สูง

  • มาตรฐานการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (มปอ. 302 : 2561)

เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบกิจการที่ต้องมีการยกและเคลื่อนย้ายวัสดุที่มีน้ำหนักมาก มีขนาดใหญ่ หรือรูปทรงที่ไม่เป็นมาตรฐานด้วยแรงกายเป็นประจำหรือหลายชั่วโมง อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาด สำนักงาน ศูนย์กระจายสินค้า ฯลฯ ผ่านการกำหนดแนวทางในการออกแบบสถานีงาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้าใจและดูแลพฤติกรรมของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานยกและเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกายให้เป็นไปตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ช่วยปรับเปลี่ยนสภาพงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานให้มีความเป็นระบบเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและทวีความรุนแรงมากขึ้น

  • มาตรฐานการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์ (มปอ. 301 : 2561)

เป็นมาตรฐานที่มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทางคอมพิวเตอร์ปรับปรุงสภาพการทำงานภายในสำนักงานให้สอดคล้องกับหลักการยศาสตร์ ตั้งแต่การจัดสถานีงานคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม และการบริหารจัดการงานคอมพิวเตอร์ รวมถึงยังมีการแนะนำท่าบริหารร่างกายที่ผู้ปฏิบัติงานทางคอมพิวเตอร์สามารถปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ ในระหว่างการทำงานเพื่อผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดเมื่อยบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงการสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อที่ต้องใช้งานหนักขณะใช้คอมพิวเตอร์ และสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรฐานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีใช้ในประเทศไทยเราเท่านั้น จะเห็นได้ว่า หากสถานประกอบการประกอบด้วยอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแล้ว ย่อมเป็นการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสูญเสียของทั้งตัวผู้ประกอบอาชีพและนายจ้างแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบทางสังคมที่อาจตามมาหลังการประสบอันตรายจากการทำงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เสริมภาพลักษณ์ให้องค์กรหรือตราสินค้า อีกทั้งยังส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตและอำนวยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

 

สอบถามข้อมูลบริการตรวจสุขภาพได้ที่

เบอร์โทร.  02-374-9604-5

Hotline: 080-9411240, 080-2718365

website: https://www.medicallinelab.co.th/

Scroll to Top