ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาทางอากาศ ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว

ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาทางอากาศ ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว

หนึ่งในปัญหาทางอากาศของประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ได้กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในปีนี้จนอยู่ในระดับที่เกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกเพศ ทุกวัยในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว และดูเหมือนว่าในครั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะดูเป็นวิกฤติการณ์ที่รุนแรงกว่าในปีที่ผ่านมาอยู่มาก แล้วเราจะมีวิธีรับมือและป้องกันตนเองจากปัญหาทางอากาศนี้ได้อย่างไร? ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เมดิคอลไลน์ แล็บ มีคำตอบมาฝากทุกท่านแล้วในบทความนี้

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดราว 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ โดยค่า PM 2.5 เป็นหนึ่งในตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศที่บ่งชี้ถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึงมากกว่า 300 ซึ่งแต่ละระดับจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่างกัน  ทั่วไปแล้ว ดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้น ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

View of metro city buildings cityscape

ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นได้อย่างไร

ฝุ่น PM 2.5 เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การก่อสร้าง ไฟไหม้ป่า การเผาป่า ควันจากการเผาขยะ หรือมลพิษจากโรงงาน ไปจนถึงการสูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน การเผากระดาษ การจุดพลุ การทำอาหารประเภทปิ้งย่าง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งเดิมทีควันหรือฝุ่นละอองเหล่านี้จะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่หากเป็นช่วงอากาศปิดจะทำให้ควันหรือฝุ่นละอองเหล่านี้ลอยออกไปไม่ได้ จึงสะสมกันอยู่ในอากาศ และทำให้ค่า PM 2.5 พุ่งสูงขึ้น ต้องรอให้ท้องฟ้าเปิด อากาศเคลื่อนตัวได้ปกติถึงจะเบาบางลง

urban-panoramic-view-city-rainy-day

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณอย่างไร

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเดินทางผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจผ่านถุงลม ปอด และกระแสเลือดได้ง่าย เมื่อสัมผัส PM 2.5 ในเบื้องต้นอาจส่งผลให้เกิดอาการไอ จาม แสบตา เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล​ หรือเป็นลมพิษ และหากได้รับ PM 2.5 ในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานานอาจลุกลามจนเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง และถุงลมโป่งพอง หรือทำให้โรคเหล่านี้กำเริบร้ายแรงขึ้น และเมื่อสะสมในเนื้อเยื่อปอดมากจนถึงในระดับหนึ่ง ฝุ่นพิษเหล่านี้จะทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลงและเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งปอด นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติอีกด้วย

 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพ และประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของ PM 2.5 นั้น ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบค่า PM เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ ในขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศพบฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานใน 49 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา และบุรีรัมย์

Woman with mask in the city

การป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้กับร่างกายของคุณ

เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาฝุ่นควันพิษที่เป็นอันตราย คุณสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้กับร่างกายของคุณได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • สวมใส่หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95 ที่สามารถกรองฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากถึงขนาด 0.3 ไมโครเมตร ได้มากกว่า 95%
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศเข้าช่วย โดยควรเป็นเครื่องกรองอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ หรือแผ่นฟิลเตอร์ HEPA Filter ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยกรองฝุ่น PM5 ได้
  • ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าสู่ตัวบ้าน และ หมั่นปัด กวาด เช็ด ถูเฟอร์นิเจอร์ด้วยผ้าชุบน้ำเพื่อป้องกันการสะสมและกระจายของฝุ่น
  • หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นควร ลดเวลาให้สั้นที่สุดและสวมหน้ากากตลอดเวลา
  • เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

เราสามารถช่วยกันลดฝุ่น PM 2.5 ให้กับโลกได้อย่างไรบ้าง

แม้ปริมาณฝุ่นจะปกคลุมอยู่ไปทั่วทุกที่ แต่เราสามารถช่วยกันลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ให้กับโลกลงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • งดเผาขยะ เผาไร่นา เผาป่า งดจุดธูป เพื่อลดการเพิ่มควันและฝุ่นพิษให้อากาศ และยังเป็นการช่วยลดอัตราการเกิดอัคคีภัยในช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้งได้ด้วย
  • ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ เช่น ต้นยางอินเดีย พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน เศรษฐีพันล้าน ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี ไทรใบสัก กวักมรกต ฯลฯ
  • ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและใช้บริการสาธารณะเพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน ลดปัญหารถติด ลดฝุ่น
  • หมั่นตรวจเช็คสภาพรถตามระยะที่เหมาะสมเพื่อลดการปล่อยควันดำจากท่อไอเสีย เพราะ PM 2.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการใช้รถ
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลดฝุ่นในกรณีที่ต้องสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซมบ้าน เช่น ผนังหรือฝ้าเพดานที่มีคุณภาพ

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.pcd.go.th/pcd_news 

Scroll to Top