ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) คือ ต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีรูปร่างคล้ายปีกปีเสื้อ พบได้บริเวณส่วนหน้าของลำคอ ใต้ลูกกระเดือก ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อกระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ ตั้งแต่ระบบสมอง หัวใจ ระบบการเผาผลาญของเซลล์ต่าง ๆ ระดับไขมันในเลือด ระบบย่อยอาหาร การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของผิว ผม เล็บ รวมทั้งยังส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกอีกด้วย ซึ่งร่างกายของเราจะมีระบบการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา แต่หากต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติหรือทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้
10 สัญญาณอาการต่อมไทรอยด์ผิดปกติที่คุณก็สังเกตได้
โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ อาทิ โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคคอพอก มะเร็งต่อมไทรอยด์ ฯลฯ เป็นกลุ่มโรคหนึ่งที่หลายท่านคุ้นหูกันดีแต่กลับมักมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งในความเป็นจริง กลุ่มโรคต่อมไทรอยด์สามารถพบได้บ่อยในประเทศไทยทั้งเพศหญิงและเพศชาย ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติและตรวจเช็คฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อให้สามารถรับมือกับกลุ่มโรคต่อมไทรอยด์ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ทั้งนี้ อาการต่อมไทรอยด์ผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน กรรมพันธุ์ และความเครียด โดยจะแสดงอาการดังนี้
-
เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย
เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ หากผลิตฮอร์โมนมากเกินไปจะเร่งการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือหากผลิตฮอร์โมนน้อยเกินไปจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและไม่กระฉับกระเฉงได้
-
ผมร่วง
ผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติหรือหรือไทรอยด์ทำงานต่ำจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของเส้นผม อาจทำให้ผมร่วงผิดปกติได้
-
นอนไม่หลับ
หากคุณปกติเป็นคนที่นอนหลับง่ายหรือนอนหลับสนิทดี แต่กลับเริ่มนอนไม่หลับโดยไม่มีสาเหตุ อาจเป็นไปได้ว่าต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนมากเกินไปจนไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและรบกวนการนอนหลับได้
-
รู้สึกไม่สดชื่นหรือง่วงอยู่ตลอดเวลา
ในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติหรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ง่วงตลอดเวลา รวมถึงคิดช้า พูดช้า รู้สึกเฉื่อยชา หรือขาดสมาธิร่วมด้วย
-
น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ
เพราะฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ผลิตมีส่วนช่วยเรื่องระบบการเผาผลาญในร่างกาย ในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่ามีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากอัตราการเผาผลาญที่ลดต่ำลง
-
ระบบขับถ่ายผิดปกติ
ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติและทำงานหนักขึ้น ทำให้ผู้ป่วยถ่ายบ่อยขึ้นกว่าปกติ ส่วนในผู้ป่วยไทรอยด์ต่ำอาจพบอาการท้องผูกแม้จะรับประทานผักและผลไม้แล้วก็ตาม
-
ขี้หนาว รู้สึกหนาวตลอดเวลา หรือขี้ร้อน เหงื่อออกเยอะมากขึ้น
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะเร่งระบบการเผาผลาญของร่างกาย จึงมักทำให้เหงื่อออกง่าย ไวต่ออากาศร้อน ส่วนภาวะไทรอยด์ต่ำจะตรงกันข้าม คือ ทำให้ระบบการเผาผลาญทำงานช้าลง จึงหนาวง่ายหรือมักรู้สึกหนาวตลอดเวลา
-
ผิวแห้ง ตาโปน
ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจมีอาการระคายเคืองดวงตา น้ำตาไหลง่าย ดูคล้ายว่าตาโปน แต่จริง ๆ แล้วเป็นเพราะหนังตาปิดตาขาวได้น้อยกว่าคนทั่วไป และในผู้ป่วยไทรอยด์ต่ำอาจพบภาวะผิวแห้ง หยาบกร้านได้
-
หิวบ่อยหรือไม่หิว ไม่อยากอาหาร
หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกหิวบ่อยขึ้น ทานอาหารมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวลดลง แต่หากไทรอยด์ทำงานน้อยลงอาจทำให้ผู้ป่วยขาดความอยากอาหาร รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ บวม อ้วนง่าย
-
ประจำเดือนไม่ปกติในผู้หญิง
เมื่อมีภาวะไทรอยด์สูงกว่าปกติหรือไทรอยด์ต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้ประจำเดือนขาดหรือมามากผิดปกติได้
การป้องกันและดูแลต่อมไทรอยด์
เพราะต่อมไทรอยด์มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเราอย่างมาก ซึ่งคุณเองก็สามารถป้องกันและดูแลต่อมไทรอยด์ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่ปรุงสุกให้ครบ 5 หมู่ มองโลกในแง่ดี และเข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ หากสังเกตพบความผิดปกติข้างต้น ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
1. https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services-th/dm-and-endocrinology-center-th/item/1798-thyroid-disorders-th.html
2. https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/thyroid_gland
3. https://www.bangkokhospital.com/content/10-thyroid-disease-signs