โรคหวัดคืออะไร
โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยและพบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันพบว่าโรคหวัดสามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายคนเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น แต่แม้โรคหวัด คือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน คือ ส่วนอยู่เหนือเส้นเสียงในหลอดลมขึ้นมาจนถึงช่องคอและจมูก แต่เมื่อเป็นหวัด ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความแข็งแรงของร่างกาย และสาเหตุของโรค
ประเภทของโรคหวัด
โรคหวัดแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่ โรคหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดขึ้นราว 80% และโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบเป็นส่วนน้อยเท่านั้น โดยโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักทำให้ผู้ป่วยมีน้ำมูก ไอ ระคายคอ หรือเจ็บคอ และอาจมีเสียงแหบร่วมด้วย ส่วนโรคหวัดจากเชื้อแบคทีเรียมักมีอาการ คือ ต่อมทอนซิลบวม หรือมีจุดหนอง ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดแล้วเจ็บ มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) แต่จะไม่มีอาการไอ โดยในบทความนี้ เราจะพูดถึงโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นหลัก
สาเหตุของโรคหวัด
สำหรับโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีสาเหตุมาจากเชื้อหวัดที่มีอยู่กว่า 200 ชนิดด้วยกัน การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยเชื้อหวัดดังกล่าวจะพบในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกันผ่านการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
อาการของโรคหวัด
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าโรคหวัด คือ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน คือ ส่วนอยู่เหนือเส้นเสียงในหลอดลมขึ้นมา จนถึงช่องคอและจมูก ดังนั้น อาการที่พบสามารถไล่จากอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ในจมูก จะมีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก จาม
- ในคอ จะมีเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ ไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อย คอแดง ต่อมทอนซิลโต แดง หรือเป็นหนอง
- ในหลอดลมส่วนต้น มีเสมหะ เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการร่วมอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการของทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ มึน เบื่ออาหาร ท้องเสีย เป็นต้น
โรคแทรกซ้อนจากหวัด
ผู้ป่วยที่เป็นหวัดอาจพบโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวเดิม หรือสภาพร่างกายที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในส่วนอื่นข้างเคียงร่วมด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ หลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ หอบหืด ชักจากไข้สูง เป็นต้น
วิธีรักษาโรคหวัด
ในผู้ป่วยทั่วไปมักจะหายจากโรคหวัดได้เองจากภูมิต้านทานของร่างกายและการพักผ่อนที่เพียงพอ สำหรับวิธีรักษาโรคหวัดในขั้นแรก คือ การสังเกตตนเองว่าโรคหวัดที่เป็นในครั้งนี้เป็นหวัดไวรัสหรือหวัดแบคทีเรีย เพราะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่พบว่าเป็นหวัดไวรัสก็มักหายเองได้ เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้น ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยารักษาโรคหวัดตามสาเหตุและอาการร่วมด้วย
วิธีป้องกันโรคหวัด
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัดธรรมดา มีแต่วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่พบบ่อย ดังนั้นการป้องกันโรคหวัดธรรมดาที่สำคัญ คือ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง เป็นต้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
- เว้นระยะห่างจากผู้ป่วย แต่หากจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
วิธีสังเกตโรคหวัดแต่ละประเภท
ผู้ป่วยสามารถสังเกตว่าตนเองเป็นหวัดจากการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้
-
สังเกตอาการตนเอง
สังเกตว่าเป็นหวัดไวรัสหรือหวัดแบคทีเรีย ด้วยการสังเกตสีของน้ำมูกและเสมหะ ถ้าเป็นหวัดแบคทีเรีย น้ำมูกหรือเสมหะจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว แต่หากเป็นโรคหวัดจากเชื้อไวรัส น้ำมูกจะเป็นสีใส ดังนั้น เมื่อเสมหะเปลี่ยนสีจากใสหรือสีขาวเป็นสีเหลืองสีเขียว บางครั้งเป็นสีน้ำตาลหรือมีปนเลือดบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นหวัดแบคทีเรียที่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic หรือยาปฏิชีวนะ)
-
อ้าปากส่องดูในคอ
การอ้าปากส่องดูในคอสามารถทำได้โดยใช้ไฟฉายส่องดูคอในกระจก โดยเมื่ออ้าปาก ต้องอ้าเพื่อให้เห็นหลังคอ โดยอ้าปากให้กว้างที่สุด แล้วสูดหายใจเข้าทางปาก ลิ้นจะต่ำลง ลิ้นไก่จะยกตัวขึ้น เปิดให้เห็นหลังคอ ไม่ต้องแลบลิ้นหรือกระดกลิ้น หากพบว่าคอแดง ต่อมทอนซิลมีลักษณะโต แดง บวม หรือเป็นหนอง แสดงว่าอาจเป็นหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
Ref: