ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคหวัดที่ควรระวัง และคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคหวัดที่ควรระวัง และคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศค่อนข้างแปรปรวน ทำให้พบการระบาดของ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ซึ่งผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่พบได้ในคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดแค่ในเด็กเล็ก หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเท่านั้น แม้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เอง แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมักมีอาการรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้

ผู้หญิงเป็นไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คืออะไร

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คือ โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากการติดไวรัสที่มีชื่อว่า ‘Influenza Virus’ ถือเป็นโรคที่น่าจับตามองโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเป็นโรคที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง มีสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

 

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการโรคไข้หวัดธรรมดา แต่อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีความรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ซึ่งมักจะค่อย ๆ แสดงอาการและไม่มีความรุนแรงมากนัก อาการแสดงเด่น ๆ ของโรคไข้หวัดใหญ่มีดังนี้

  • มีไข้สูง อ่อนเพลีย
  • หนาวสั่นและเหงื่อออก
  • ปวดศีรษะ
  • ไอแห้ง เจ็บคอ
  • มีน้ำมูก คัดจมูก
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา
  • ท้องเสียและอาเจียน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก

 

หากคุณมีอาการไข้หวัดใหญ่ดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน

  • อาการไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ ที่ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน
    • เจ็บหน้าอก หายใจถี่
    • เวียนศีรษะ หน้ามืด
    • มีไข้เกิน 24-48 ชั่วโมง
    • ชัก
    • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
    • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
    • โรคประจำตัวกำเริบ
  • อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ที่ควรรีบไปพบแพทย์ด่วน
    • มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
    • หายใจหอบ เจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบาก
    • มีอาการไข้หวัดใหญ่มากกว่า 7 วัน
    • ปากเขียว ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
    • ไข้ลดลง แต่ยังหายใจไม่ออก
    • มีภาวะขาดน้ำ
    • ชัก
    • โรคประจำตัวกำเริบ

 

สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่

สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ทางการหายใจและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยมักเกิดจากผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือพูดคุย ทำให้เชื้อออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อสูดหรือสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ เช่น โทรศัพท์มือถือ คีย์บอร์ด ราวบันได ฯลฯ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก ก็จะทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้หวัดใหญ่

กลุ่มที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • เด็กที่มีอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี
  • ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • สตรีมีครรภ์
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น
    • โรคไต
    • โรคตับ
    • โรคอ้วน
    • โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด
    • โรคทางสมอง เช่น โรคลมชัก และโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและไขสันหลัง
    • โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
    • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง
    • โรคเบาหวานและโรคที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนอื่น ๆ
  • ผู้ที่อาศัยหรือทำงานในที่แออัด
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อยู่ในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง โรคเอชไอวี การปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคไข้หวัดใหญ่

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีสุขภาพดีมักหายจากไข้หวัดใหญ่ได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ดังนี้

  • ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน หายใจเร็ว หายใจช่วงสั้น ๆ
  • ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ
  • โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ
  • โรคหอบหืดกำเริบ
  • หลอดลมอักเสบ
  • หูอักเสบ
  • โรคหัวใจ

 

ไข้หวัดใหญ่ ต่างจาก ไข้หวัดธรรมดาอย่างไร

แม้ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการแสดงที่คล้ายคลึงกัน แต่โรคไข้หวัดทั้งสองชนิดนี้เกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน และมีความรุนแรงต่างกัน ซึ่งไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงและเฉียบพลันกว่าไข้หวัดธรรมดาและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดามักแสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป มีอาการไม่รุนแรงนักและหายได้เองในไม่กี่วัน โดยอาการที่สำคัญของไข้หวัดใหญ่ คือ การมีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน แต่ปู้ป่วยไข้หวัดธรรมดาจะเพียงมีไข้ แต่เป็นไข้ที่ไม่สูงนัก และความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเป็นหลัก

ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จำเป็นหรือไม่

เราทุกคนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ วัคซีนที่ออกมาในแต่ละปีจึงเปลี่ยนแปลงไปตามสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จึงมีความจำเป็นในแง่ที่สามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ ลดโรคแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

Medical Line Lab บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดตลอดทั้งปี เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ช่วยลดความเสี่ยงต่อในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ พร้อมลดความรุนแรงและโอกาสการเสียชีวิตได้

 

ข้อแนะนำการดูแลตัวเอง และการป้องกันการแพร่เชื้อ

  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  • จามหรือไอใส่ข้อศอกหรือกระดาษทิชชู และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุกใหม่ ๆ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ และใช้ช้อนกลาง
  • หากมีอาการปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
  • งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  • พักผ่อนอยู่ที่บ้าน งดพบปะสังสรรค์ หลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ชิดผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยเสมอ

 

การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่

การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง เพียงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยสามารถรักษาไข้หวัดใหญ่ตามอาการได้ด้วยตนเอง เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูงและรับประทานยาลดไข้ หากมีน้ำมูก สามารถใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะได้ แต่หากอาการไข้หวัดใหญ่ไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หรือมีอาการหนักขึ้น เช่น มีไข้สูงมาก หายใจลำบาก หอบ หน้ามืด มีภาวะขาดน้ำ โรคประจำตัวกำเริบ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

ไข้หวัดใหญ่ทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ว่าในแต่ละปี มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 1,000 ล้านราย เป็นผู้ป่วยมีอาการหนักราว 3-5 ล้านราย และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละ 290,000 ถึง 650,000 คน ทำให้การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขของทั่วโลก

ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยาและผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยคาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ราว 700,000-900,000 ราย และมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลประมาณ 12,575-75,801 รายต่อปี และพบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ทุกปี สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มาจากภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดบวม ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตได้

ผู้หญิงได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทย

สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยมีดังนี้

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์ที่มีอาการและความรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน
    • H1N1 คือ สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก พบครั้งแรกในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และมีการระบาดไปอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วัน โดยมีอาการหลัก ได้แก่ เป็นไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ ฯลฯ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้ด้วยตนเองภายใน 5-7 วัน บางรายอาจมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบากร่วมด้วย ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นอาการแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
    • H3N2 คือ สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดมาแล้วในปี 2558 รู้จักกันในชื่อว่า “ไข้หวัดฮ่องกง” หรือ “ไข้หวัดสุกร” โดยเป็นไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการสัมผัสหรือรับประทานเนื้อหมู สายพันธุ์ H3N2 ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-3 วัน โดยมีอาการกับการติดเชื้อ COVID-19 ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น ไอ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ ท้องเสีย เป็นต้น ร่วมด้วย
  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เป็นสายพันธุ์ที่มีอาการที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A มีอัตราการพบได้น้อยกว่าสายพันธุ์ A ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • Colorado ตระกูล Victoria คือ สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่มักระบาดในฤดูฝนและฤดูหนาว แพร่กระจายได้จากคนสู่คนเท่านั้น อาการหลัก ๆ คือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว ตัวร้อน มีไข้ มีเสมหะ เจ็บคอ และไอแห้ง ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบ และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
  • Phuket ตระกูล Yamagata คือ สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น มักระบาดในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงมกราคม แพร่กระจายได้จากคนสู่คนเช่นเดียวกับ Victoria ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดหัว ปวดตัว มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ มีไข้ และตัวร้อน ซึ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับปอด โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทถือเป็นกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยทั่วไป

 

การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจึงถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส ต่อต้านเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตได้นั่นเอง

 

 

Ref:

https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13

https://ddc.moph.go.th/doe/pagecontent.php?page=607&dept=doe

https://www.pidst.or.th/A709.html

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/influenza-(seasonal)

https://www.praram9.com/influenza-vaccine/  

 

Scroll to Top