ภัยเสี่ยงสุขภาพ! ที่มาพร้อมกับหน้าฝนและน้ำท่วมขัง

ภัยเสี่ยงสุขภาพ! ที่มาพร้อมกับหน้าฝนและน้ำท่วมขัง

ในช่วงหน้าฝนแบบนี้นอกจากจะต้องทนเปียกฝน ทนกับสภาพชื้นแฉะหลังฝนตกแล้ว หลายคนยังต้องเจอกับอาการป่วยที่มักมาพร้อมกับฝนและน้ำที่ท่วมขัง เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ทำให้โรคบางชนิดแพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วมากขึ้น มาดูกันว่ามีโรคอะไรบ้างที่อาจมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ และเป็นโรคที่มากับน้ำที่ท่วมขัง เพื่อเตรียมตัวรับมือก่อนป่วย

น้ำท่วม

โรคและอาการป่วยที่มักเกิดขึ้นในหน้าฝนและจากน้ำท่วมขัง

  1. โรคไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการใกล้เคียงกัน แต่ทั้งสองโรคมีสาเหตุในการเกิดโรคต่างกัน เพราะการเกิดไข้หวัดธรรมดาอาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H1N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ ที่ขณะนี้พบการระบาดทั่วประเทศ

  1. โรคปอดบวม

สาเหตุของการเกิดโรคปอดบวมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอากาศหรือการสัมผัสน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วยโดยตรงผ่านการไอ หรือจาม โดยเชื้อไวรัสที่อาจทำให้เกิดปอดบวม ได้แก่ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (Virus) และเชื้อ Influenza (ไข้หวัดใหญ่) ส่วนโรคปอดบวมในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบนั้น ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae มากที่สุด

  1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea) มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคในทางเดินอาหารบริเวณลำไส้ ทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ปวดบิดในท้อง และผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อบิดอาจมีมูกเลือดปนเปื้นในอุจจาระได้

  1. โรคตาแดง

โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการติดเชื้อ ภูมิแพ้ หรือสารเคมี แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบเจอเป็นประจำ คือ การติดต่อจากเชื้อไวรัสโดยตรงที่ปะปนอยู่ในขี้ตาหรือน้ำตาที่ติดอยู่บนมือของผู้ป่วยและติดอยู่บนของที่ผู้ป่วยสัมผัส ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดง เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาแดงมากที่สุด คือ Adenovirus

  1. โรคไข้เลือดออก

ในช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน อย่างประเทศไทย ทำให้เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกมากที่สุด เพราะยุงลาย คือ พาหะของโรคไข้เลือดออก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี หากพบว่ามีอาการป่วยคล้ายเป็นโรคไข้เลือดออกให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันทีเพราะการรักษาที่ช้าเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ยุงดูดเลือดคน

  1. โรคไข้ฉี่หนู

เป็นโรคพบมากในหน้าฝนและในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนี้ มีสาเหตุมาจากการสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ โดยผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไข้ฉี่หนูจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศรีษะ ตาแดง และมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณโคนขาและกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง โดยประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคชนิดนี้มักมีอาการรุนแรง เช่น ไตวาย ดีซ่าน หรือเกิดอาการช็อกได้

  1. โรคมือ เท้า ปาก

เป็นโรคที่มักพบในเด็กโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses อาการที่สังเกตได้ของเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก คือ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ  ที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท่า รวมถึงในช่องปาก มักติดต่อกันในพื้นที่ที่มีเด็กรวมตัวกันอยู่มาก ๆ

คนล้างมือ

การรับมือเพื่อป้องกันโรคในหน้าฝน

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ และสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับอาหาร
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • หมั่นออกกำลังกายเสมอและออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • หากโดนฝนหรือไปบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ให้รีบอาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายให้สะอาด เพื่อป้องกันไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่อาจมากับน้ำฝนหรือน้ำที่ท่วมขัง
  • กำจัดบริเวณที่มีน้ำขัง (โดยเฉพาะน้ำนิ่ง) ภายในบ้านและรอบตัวบ้านเพื่อป้องกันการวางไข่ของลูกน้ำยุงลาย
Scroll to Top