ทุกคนต่างก็อยากมีใบหน้าเรียบเนียนใสเป็นธรรมชาติ แต่สิว คือ ปัญหาผิวอันดับต้น ๆ ของใครหลายคน โดยสิวมักเริ่มเกิดในช่วงวัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิง และยังอาจพบได้แม้ในผู้ที่มีอายุ 30-40 ปีก็ตาม ซึ่งสิวถือเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาได้ยาก สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เรื่อย ๆ จนอาจทำให้ผู้ที่เป็นสิวหมดความมั่นใจ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
สิวคืออะไร? สิวเกิดจากอะไร?
สิว คือ ภาวะการเกิดความผิดปกติบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันในรูขุมขน พบมากบริเวณใบหน้า ลำคอ และลำตัวส่วนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่หนาแน่น โดยสาเหตุของการเกิดของสิวมีหลากหลาย และอาจเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกได้ เช่น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- กรรมพันธุ์
- การใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิด
- สภาพผิวหน้าและความมันบนใบหน้า
- การดูแลและทำความสะอาดผิวหน้า
- ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การแพ้สารสัมผัสหรือสารบางชนิดที่ผสมอยู่ในเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง สบู่ล้างหน้า ยาสระผม เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสฝุ่นละออง ความร้อน หรือแสงแดด
ประเภทของสิว สิวมีกี่ประเภท?
ประเภทของสิวสามารถแบ่งออกได้เป็น
- สิวอุดตัน คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กสีขาว พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ลำคอ และลำตัว โดยเฉพาะที่แผ่นหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก
- สิวอักเสบ คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันและอักเสบของต่อมไขมัน ร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีลักษณะเป็นตุ่มแดง ตุ่มหนอง หรือตุ่มบวมแดง ร้อน เจ็บ คล้ายฝี บางรายอาจมีไข้ได้
- สิวหัวดำ คือ สิวหัวเปิดที่มองเห็นหัวสิว เกิดจากการอุดตันรูขุมขนของน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ที่ตายแล้ว จากนั้นมีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จนทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำ
- สิวหัวขาว คือ สิวหัวปิดที่เป็นตุ่มนูนสีขาวอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อลูบแล้วมีลักษณะเป็นไตเล็ก ๆ เกิดจากการอุดตันรูขุมขนของน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ที่ตายแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจติดเชื้อและกลายเป็นสิวอักเสบได้
- สิวหัวหนอง คือ สิวอักเสบชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นตุ่ม บวม แดง มีขนาดใหญ่และมีหนอง เกิดจากการติดเชื้อที่รูขุมขน
- สิวเชื้อราหรือสิวยีสต์ คือ สิวที่เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน โดยมีสาเหตุจากเชื้อรา สิวเชื้อราจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงคล้ายสิว และมีอาการคันร่วมด้วย
- สิวซีสต์ หรือ สิวหัวช้าง คือ สิวก้อนนูนแดงที่สามารถขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสัมผัสจะพบว่าเป็นก้อนแข็ง ภายในเต็มไปด้วยหนอง เกิดจากการอักเสบในรูขุมขนอย่างรุนแรง
ความรุนแรงของสิว คุณอยู่ในระดับไหน?
- สิวระดับน้อย คือ สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวชนิดตุ่มนูนแดง และสิวหัวหนอง
- สิวระดับปานกลาง คือ การเป็นสิวอุดตันและสิวที่มีหนองจำนวนมาก มักจะเป็นบริเวณใบหน้า
- สิวระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก คือ การที่มีสิวอักเสบและสิวหัวหนองจำนวนมาก รวมถึงมีสิวอักเสบขนาดใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณใบหน้า บริเวณอก และแผ่นหลัง
- สิวระดับรุนแรงมาก คือ การเป็นสิวอักเสบและสิวหัวหนองขนาดใหญ่จำนวนมาก
วิธีรักษาสิว เผยผิวใสแบบเป็นธรรมชาติ
สำหรับวิธีรักษาสิวในเบื้องต้นคือการแยกประเภทของสิวที่เป็นและรักษาตามประเภทของสิวนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบ การรักษาจะมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การรับประทานยาและการทายา ซึ่งแพทย์ผิวหนังจะพิจารณาวิธีรักษาสิวอักเสบที่เหมาะสมกับความรุนแรงในคนไข้แต่ละราย หากคนไข้มีสิวอักเสบ สิวหัวช้างจำนวนมากอาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาเพื่อให้สิวยุบเร็วขึ้น นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวอักเสบแต่ดื้อยา แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาด้วยแสง (LED Light ) ที่ช่วยฆ่าเชื้อพีแอคเน่ (P. acnes) และลดการอักเสบของสิวร่วมด้วย
ในกรณีสิวอุดตัน นอกจากการใช้ยาทาแล้ว ก็สามารถใช้ยารับประทานร่วมด้วย โดยยารักษาสิวอุดตันจะช่วยลดปัญหาผิวมันและสิวอุดตัน และในคนไข้บางราย แพทย์อาจใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาสิวอุดตันอย่างการผลัดผิวด้วยผงคริสตัล (MD) ซึ่งช่วยให้หัวสิวอุดตันหลุดออกได้
ดูแลตนเองอย่างไรให้ไร้สิว วิธีป้องกันสิวอย่างถูกวิธี
- ใช้สบู่ล้างหน้าที่เหมาะสมกับสภาพผิว
- ล้างหน้าอย่างเบามือและถูกวิธี งดการขัดหน้าแบบรุนแรง ไม่ล้างหน้าบ่อยเกินไป
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือก่อให้เกิดสิว
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น การใช้เครื่องสำอาง สารเคมี และสารสกัดบางชนิด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัด ๆ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้หน้ามัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก หรืออดนอน
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอในแต่ละวัน
- งดลูบคลำบริเวณผิวหน้า หลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิว
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งหรือคำแนะนำตามเอกสารกำกับยาเท่านั้น
ภายหลังการรักษาสิวแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาแผลเป็นที่เกิดจากสิว ซึ่งอาจใช้เวลายาวนานถึง 6 เดือน โดยปัจจุบันมีหลายวิธี อาทิ การใช้สารเคมีลอกผิวหน้า การขัดผิวหน้า การใช้เลเซอร์ เป็นต้น โดยการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจและการดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังเท่านั้น
Ref:
https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/404
สนใจขอรับบริการตรวจสุขภาพกับทาง Medical line lab สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางดังนี้
เบอร์โทรศัพท์: 02-374-9604
Line: https://page.line.me/259wtcig?openQrModal=true
Contact us: https://www.medicallinelab.co.th/ติดต่อสอบถาม/
Website: https://www.medicallinelab.co.th/
Facebook: https://www.facebook.com/MLLmedicallinelab
Email: info@medicallinelab.co.th