ขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อทราบว่าติดเชื้อโควิด-19

ขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อทราบว่าติดเชื้อโควิด-19

ขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อทราบว่าติดเชื้อโควิด-19

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งมีการแพร่ระบาดในวงกว้างไปทั่วโลกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สะท้อนให้เห็นจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังคงอยู่ในระดับหลักพัน และการแพร่ระบาดยังกระจายเป็นวงกว้าง รวมถึงการพบการกลายพันธุ์ของเชื้อนี้เพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูง

ปัจจุบัน ทุกคนสามารถตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบแอนติเจนหรือชุดตรวจ ATK ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกร และต้องมีอย. รับรอง อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจ ATK สามารถใช้ตรวจเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่าติดเชื้อหรือปลอดเชื้อแน่นอน 100% ต่างจากการตรวจที่โรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ในกรณีที่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยหรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง แต่ผลตรวจออกมาเป็นลบ หรือ “ไม่พบเชื้อ” ผู้ตรวจยังต้องเฝ้าระวังและป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเชื้ออาจอยู่ระหว่างการฟักตัว จึงยังไม่เป็นบวก หรือเชื้อยังมีจำนวนน้อย ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน หรือถ้าผลเป็นลบ แต่ยังมีอาการ ควรติดต่อโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ RT-PCR ทันที

ในกรณีที่ผลตรวจออกมาเป็นบวก หรือ “พบเชื้อ” ให้รีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินจากอาการว่าเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดงและอาจมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยควรแยกตัวจากคนอื่นในบ้านทันที พร้อมแจ้งผู้ที่เคยสัมผัสใกล้ชิดในช่วง 14 วัน ให้กักตัวและตรวจหาเชื้อ หากแพทย์ประเมินแล้วว่าเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว หรือมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ อาจใช้วิธีกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยแยกตัวจากผู้อื่น สวมหน้ากากตลอดเวลา แยกของใช้ส่วนตัว แยกใช้ห้องน้ำ หรือใช้หลังสุด และทำความสะอาดทุกครั้งตามแนวทางปฏิบัติการกักตัวที่บ้านเมื่อต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 แต่หากหายใจลำบากหรืออาการแย่ลง ควรติดต่อแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

ชุดตรวจโควิด

หากทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรทำอย่างไร ?

  1. เตรียมเอกสารต้องใช้ เช่น บัตรประชาชน ผลตรวจโควิด-19 โดยควรถ่ายรูปผลการทดสอบ พร้อมระบุตัวตนและวันที่ตรวจให้ชัดเจน
  2. ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ารับการรักษา โดยสามารถเข้าสู่ระบบบริการรักษาพยาบาล ดังช่องทางต่อไปนี้
  • ตรวจที่โรงพยาบาล

หากพบผลบวกหรือพบว่าติดเชื้อ ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาตามระบบจัดการในโรงพยาบาลหลักได้ทันที

  • ตรวจคัดกรองเชิงรุก

หากรถมีการเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานและรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษลงพื้นที่กรุงเทพฯ และปทุมธานีหรือทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด 19 เชิงรุก Comprehensive Covid – 19 Response Team (CCRT) แล้วพบผลบวกหรือพบว่าติดเชื้อ เจ้าหน้า ณ สถานที่ตรวจคัดกรองจะเป็นผู้ประสานงานส่งตัวผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา

  • ตรวจด้วยตนเอง

กรณีที่ตรวจเองโดยใช้ ATK หากมีผลเป็นบวก ให้โทรศัพท์แจ้งเรื่องไปยังสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เบอร์ 1330 หรือโทรศัพท์ไปยังสายด่วนศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) สำนักงานเขตในพื้นที่ตนเองอาศัยอยู่ (เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต)

  1. รอการประสานงานจากเจ้าหน้าที่

กักตัวอยู่บ้าน เนื่องจากติดเชื้อโควิด

การปฏิบัติตัวระหว่างรอเตียงหรือรอการประสานงานจากเจ้าหน้าที่

หากทราบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 และยังอยู่ระหว่างการรอเข้าสู่ระบบการรับบริการทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนรอบข้าง
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้เพียงพอและครบถ้วนเพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน
  3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยการจิบน้ำเรื่อย ๆ ทั้งวัน ยกเว้นช่วงก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง
  4. นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  5. ฝึกหายใจช้า ๆ ลึก ๆ โดยหายใจเข้าทางจมูกและออกทางปาก ทั้งในท่านั่งตัวตรง นอนหงาย นอนตะแคง หรือนอนคว่ำ
  6. ออกกำลังเบา ๆ โดยการเดิน 3 นาที หรือลุกนั่งบนเก้าอี้ 1 นาที หรือนานกว่านั้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป
  7. ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น พูดคุยกับบุคคลอื่นผ่านทางโทรศัพท์ เป็นต้น
  8. หากมีอาการเล็กน้อย สามารถรับประทานยาแก้ไข้ ยาแก้ไอยาลดน้ำมูกตามอาการเพื่อบรรเทาอาการได้
  9. หากมีอาการรุนแรง ให้โทร. 1669 เพื่อขอรับบริการการแพทย์ฉุกเฉินทันที
  10. งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด หากฝ่าฝืนถือว่าผิด พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34

 

เบอร์สายด่วนที่ควรทราบในช่วงสถานการณ์โควิด-19

  • 1422: สายด่วนกรมควบคุมโรค ให้คำปรึกษาเรื่องโรคและภัยสุขภาพ ให้บริการ 24 ชั่วโมง
  • 1669: สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำหรับเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินและติดต่อประสานเตียง ให้บริการ 24 ชั่วโมง
  • 1330: สายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กด 0 เพื่อหาเตียงและสอบถามสิทธิบัตรทอง กด 14 เพื่อรับการดูแลที่บ้าน หรือกด 15 หากต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ให้บริการ 24 ชั่วโมง
  • 1506: สายด่วนประกันสังคม กด 6 เป็นช่องทางให้คำปรึกษาผู้ประกันตนในการตรวจและรักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 ให้บริการทุกวัน เวลา 00-17.00 น.
  • 1111: สายด่วนรัฐบาล สำหรับรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ
  • 1323: สายด่วนสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาภาวะซึมเศร้า เครียด หรือวิตกกังวล ให้บริการ 24 ชั่วโมง
  • 02-203-2393 หรือ 02-203-2396: สายด่วนสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
  • 1300: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งกรณีเป็นผู้ป่วย หรือไม่มีผู้ดูแลเนื่องจากผู้ปกครองเสียชีวิต
  • กรณีอยู่ต่างจังหวัด ผู้ป่วยยังสามารถติดต่อไปยังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือศูนย์ประสานงานเฉพาะของแต่ละพื้นที่จังหวัดเพื่อขอคำปรึกษาหรือช่วยประสานงานได้

 

ตราบใดที่โควิด-19 ยังคงไม่หมดไปจากบ้านเรา การดูแลและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดก็ยังมีความจำเป็น ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่สาธารณะหากไม่จำเป็น เหนือสิ่งอื่นใด ควรหมั่นรักษาสุขภาพ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่าย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบไปตรวจโควิดทันทีเพื่อจะได้ทราบผลและหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที

ศูนย์การตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เมดิคอลไลน์ แล็บ บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชาญและเชี่ยวชาญในการตรวจหาสารพันธุกรรม แม่นยำสูง ทราบผลรวดเร็ว ดำเนินการในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่มั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการรับรองว่าเป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐานการตรวจหาเชื้อโควิด–19 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย สามารถสอบถามรายละเอียดหรือทำการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อความสะดวกและรวดเร็วได้ที่

Tel.: 02-3749604-5

Facebook: medicallinelab

Line: @medicallinelab

Website: www.medicallinelab.co.th

 

Ref:

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/การดูแลตนเองเบื้องต้นเ/

https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1173420210903054846.pdf

Scroll to Top