โรคติดต่อร้ายแรงทั้งโรคเก่าและโรคที่อุบัติขึ้นใหม่ถือเป็นปัญหาด้านสุขภาพและภัยคุกคามที่สำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ยิ่งในระยะหลัง ๆ มานี้จะเห็นได้ว่าเชื้อโรคมีการพัฒนาด้านความรุนแรง การดื้อยา และแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น การป้องกันควบคุมโรคที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่เป็นระบบอาจส่งผลให้สถานะของโรคนั้น ๆ ร้ายแรงยิ่งขึ้น เราจึงต้องป้องกันควบคุมโรคและป้องกันตนเองจากการติดเชื้ออย่างรัดกุม บทความนี้จะพาไปดูสิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค
เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร?
เชื้อโรคต่าง ๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้
- ทางปาก ผ่านรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปะปนเชื้อโรค เช่น โรคอหิวาตกโรค โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
- ทางจมูก ผ่านการหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในฝอยน้ำลายหรือฝุ่นละออง เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
- ทางผิวหนัง ผ่านรอยถลอก บาดแผล ผื่นแมลงกัด เยื่อบุต่าง ๆ รวมถึงการสัมผัสของเหลวจากตัวผู้ป่วย เช่น โรคมาลาเรีย บาดทะยัก คุดทะราด ไข้เลือดออก หนองใน เป็นต้น
- ทางอวัยวะสืบพันธุ์ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโรคนั้น ๆ เช่น กามโรคชนิดต่าง ๆ เช่น โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน โรคฝีมะม่วง เป็นต้น
- ทางสายสะดือ หากมารดามีการติดเชื้อในระยะตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก เช่น เชื้อโรคหัดเยอรมัน
- ทางเลือด ผ่านทางเส้นเลือดอย่างการฉีด ผ่าตัด ได้รับเลือดเพื่อการรักษา การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น เชื้อซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ เอดส์ เป็นต้น
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ 100% หรือไม่?
แม้การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถการันตีได้ว่าช่วยป้องกันโรคได้ 100% แต่การให้วัคซีนเป็นวิธีการป้องกันโรคติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง
วัคซีนในผู้ใหญ่จำเป็นไหม
การฉีดวัคซีนไม่จำกัดแต่เพียงในเด็กเท่านั้น ในความเป็นจริง เมื่อเราอายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเสื่อมสภาพและภูมิคุ้มกันเดิมที่เคยมีก็ลดลงตามวัย จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นหรือติดโรคต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้ง วัคซีนที่เคยฉีดตอนเป็นเด็กนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต ดังนั้น วัคซีนหลาย ๆ ชนิดจึงควรฉีดซ้ำตอนเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน หรือวัยเกษียณ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยและติดเชื้อได้ง่าย
โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ
หลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบว่าพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 กำหนดให้เจ้าบ้าน เจ้าของสถานประกอบการ แพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาลต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่พบผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงโรคใดโรคหนึ่งใน 23 โรคตามที่ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- อหิวาตกโรค
- กาฬโรค
- ไข้ทรพิษ
- ไข้เหลือง
- ไข้กาฬหลังแอ่น
- คอตีบ
- โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด
- โปลิโอ
- ไข้หวัดใหญ่
- ไข้สมองอักเสบ
- โรคพิษสุนัขบ้า
- ไข้รากสาดใหญ่
- วัณโรค
- แอนแทร็กซ์
- โรคทริคิโนซิส
- โรคคุดทะราด (เฉพาะในระยะติดต่อ)
- โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็ก
- โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
- ไข้เลือดออก
- โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
- โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
หลักการง่าย ๆ ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ การดูแลความสะอาดและสุขอนามัย เช่น การล้างมือทุกครั้งก่อน – หลังรับประทาน/ปรุงอาหาร หรือหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ อาทิ ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลังพักผ่อนอย่างเพียงพอ ตลอดจนเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีเพื่อคัดกรองความเสี่ยงก็ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีในการป้องกันควบคุมโรคทั้งสิ้น
สอบถามข้อมูลบริการตรวจสุขภาพได้ที่
เบอร์โทร. 02-374-9604-5
Hotline: 080-9411240, 080-2718365
website: https://www.medicallinelab.co.th/